นางประเทือง วาจรัต ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยถึงสถานการณ์การผลิตถั่วลิสง รุ่น 1 และรุ่น 2 ของพื้นที่ 5 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ อุบลราชธานี ศรีสะเกษ ยโสธร อำนาจเจริญ และมุกดาหาร (ข้อมูล ณ 13 พฤษภาคม 2567) โดยในปี 2566 มีพื้นที่ปลูกรวม 3,961 ไร่ เพิ่มขึ้นจาก 3,802 ไร่ ของปีที่ผ่านมา (เพิ่มขึ้น 141 ไร่ หรือ ร้อยละ 3.69) เนื่องจากเกษตรกร เริ่มมีความชำนาญในการปลูกถั่วลิสงมากขึ้น การดูแลไม่ยากนัก ประกอบกับราคารับซื้อค่อนข้างดี และมีตลาดรองรับผลผลิต ส่งผลให้เกษตรกรเพิ่มพื้นที่ในการปลูก ผลผลิตรวม 1,006 ตัน/ปี เพิ่มขึ้นจาก 968 ตัน/ปี ของปีที่ผ่านมา (เพิ่มขึ้น 38 ตัน หรือ ร้อยละ 3.90) และผลผลิตถั่วลิสงทั้งเปลือกเฉลี่ย 261 กิโลกรัม/ไร่ เพิ่มขึ้นจาก 252 กิโลกรัม/ไร่ ของปีที่ผ่านมา (เพิ่มขึ้น 9 กิโลกรัม/ไร่ หรือร้อยละ 3.56) เนื่องจากการดูแลเอาใจใส่ที่ดีของเกษตรกรและหน่วยงานภาครัฐในจังหวัดให้การสนับสนุน ประกอบกับถั่วลิสงมีความสมบูรณ์ดี ส่งผลให้ผลผลิตรวมและผลผลิตต่อไร่เพิ่มขึ้น
ด้านสถานการณ์การผลิตรายจังหวัด พบว่า ยโสธร มีพื้นที่ปลูก 1,641 ไร่ ผลผลิต 398 ตัน/ปี ศรีสะเกษ มีพื้นที่ปลูก 987 ไร่ ผลผลิต 269 ตัน/ปี อุบลราชธานี มีพื้นที่ปลูก 953 ไร่ ผลผลิต 229 ตัน/ปี มุกดาหาร มีพื้นที่ปลูก 248 ไร่ ผลผลิต 73 ตัน/ปี และอำนาจเจริญ มีพื้นที่ปลูก 132 ไร่ ผลผลิต 37 ตัน/ปี ซึ่งในแต่ละปีเกษตรกรจะทำการเพาะปลูกถั่วลิสง 2 รุ่น คือ ถั่วลิสง รุ่น 1 (ต้นฤดูฝนและปลายฤดูฝน) ปลูกช่วงเดือนพฤษภาคม – ตุลาคมของปีเดียวกัน เก็บเกี่ยวช่วงเดือนกรกฎาคม – มกราคมของปีถัดไป และถั่วลิสง รุ่น 2 (ฤดูแล้ง) ปลูกช่วงเดือนพฤศจิกายน – เมษายนของปีถัดไป (หลังนา) เก็บเกี่ยวช่วงเดือนมกราคม – มิถุนายน ระยะเวลาเพาะปลูกจนถึงเก็บเกี่ยว 90 – 120 วัน ทั้งนี้ เกษตรกรในพื้นที่ทั้ง 5 จังหวัด อยู่ในช่วงระหว่างเก็บเกี่ยวผลผลิตถั่วลิสง รุ่น 1
ราคาขายถั่วลิสงสดทั้งเปลือกของ 5 จังหวัด ณ พฤษภาคม 2567 เฉลี่ยอยู่ที่ 35 บาท/กิโลกรัม ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 65 จำหน่ายให้กับกลุ่มวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่เพื่อแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ อาทิเช่น ถั่วลิสงคั่วทราย ถั่วกรอบแก้ว ขนมถั่วตัด เป็นต้น และผลผลิตร้อยละ 30 จำหน่ายในรูปของถั่วลิสงสดให้กับพ่อค้าคนกลางในท้องถิ่น เพื่อนำไปส่งต่อยังตลาดกลางภายในจังหวัด และตลาดเจริญศรี จังหวัดอุบลราชธานี (ตลาดค้าส่งผลผลิตทางการเกษตร) และผลผลิตอีกร้อยละ 5 เกษตรกรจะตากแห้งเก็บไว้เพื่อทำพันธุ์
ทั้งนี้ ถั่วลิสงถือว่าเป็นพืชทางเลือกที่มีศักยภาพที่มีโอกาสทางการตลาด ปัจจุบันเกษตรกรปลูกถั่วลิสงกันอย่างแพร่หลายทั่วทุกภาคของประเทศ โดยมีแหล่งปลูกที่สำคัญอยู่ที่ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งจากการติดตามทั้ง 5 จังหวัด ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการผลิตถั่วลิสง โดยการรวมกลุ่มในรูปแบบศูนย์เมล็ดพันธุ์ถั่วลิสงชุมชน แปลงใหญ่ถั่วลิสง และการจดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน เพื่อยกระดับคุณภาพ การรวบรวมผลผลิตเพื่อจำหน่าย รวมไปถึงการแปรรูป เพื่อเพิ่มมูลค่า ซึ่งเป็นการสร้างความเข้มแข็งให้กับเกษตรกรภายใต้บริบทของพื้นที่ โดยพบว่ามีกลุ่มต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ มีศักยภาพการผลิตในพื้นที่ มีความชำนาญในการเพาะปลูก ได้แก่ กลุ่มแปลงใหญ่ถั่วลิสง หมู่ 6,11 ตำบลกู่จาน อำเภอคำเขื่อนแก้ว จังหวัดยโสธร มีพื้นที่ปลูกรวม 585 ไร่ สมาชิก 95 ราย ได้ผลผลิตรวม 142 ตัน/ปี และกลุ่มแปลงใหญ่ถั่วลิสง หมู่ 7,13 ตำบลกุดน้ำใส อำเภอค้อวัง จังหวัดยโสธร มีพื้นที่ปลูกรวม 400 ไร่ สมาชิก 50 ราย ได้ผลผลิตรวม 98 ตัน/ปี
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มศักยภาพการผลิตถั่วลิสงอย่างมีประสิทธิภาพ ควรให้ความสำคัญเรื่องการพัฒนาการผลิตสู่การรับรองมาตรฐาน การพัฒนาเมล็ดพันธุ์ที่เหมาะสมกับท้องถิ่น การเพิ่มปริมาณผลผลิตให้เพียงพอกับความต้องการของตลาด เนื่องจากปัจจุบันในประเทศไทยมีความต้องการใช้ถั่วลิสงอย่างต่อเนื่อง แต่ผลผลิตที่ผลิตได้ยังไม่เพียงพอ หากท่านใดสนใจข้อมูลการผลิตถั่วลิสงของ 5 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ สศท.11 อุบลราชธานี โทร 0 4534 4654 หรือ อีเมล [email protected]