วันที่ 22 เมษายน 2565 นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ พร้อมด้วยนายนิพนธ์ บุญญามณี รองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย แถลงภายหลังการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนด้านการพาณิชย์ (กรอ.พาณิชย์) ภาคใต้ ที่โรงแรมบุรีศรีภู คอนเวนชั่นเซ็นเตอร์ ถนนศรีภูวนารถ ตำบลหาดใหญ่ อำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
นายจุรินทร์ กล่าวว่า วันนี้เป็นการประชุม “กรอ.พาณิชย์ ภาคใต้” ถือเป็นการประชุมในส่วนภูมิภาคเป็นครั้งแรก จากนี้จะมีการประชุมในส่วนของภาคกลางที่จังหวัดระยอง ภาคเหนือที่พิษณุโลกและภาคอีสานที่อุบลฯหรือนครราชสีมาต่อไป เพื่อลงลึกการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงพาณิชย์ที่ส่วนราชการอื่นและภาคเอกชนอย่างใกล้ชิดและลงลึกถึงการแก้ปัญหาในระดับภาคมากขึ้น
ประเด็นสำคัญที่หารือวันนี้มีประเด็นดังนี้
เรื่องแรก “การกระจายผลไม้ภาคใต้”ในฤดูกาลผลิตที่จะมาถึง กำลังจะออกสู่ตลาด 2-3 เดือนที่จะถึงนี้ สำหรับตลาดในประเทศจะเพิ่มพื้นที่ระบายผลไม้ในปั๊มน้ำมันทั่วประเทศ เช่น ปั๊มปตท. ปั๊มเชลล์ บางจากและพีที เป็นต้น และประสานงานกับห้างสรรพสินค้าต่างๆจัดพื้นที่ระบาย “ผลไม้ภาคใต้” มอบหมายให้แต่ละจังหวัดดำเนินการจัดพื้นที่จำหน่ายผลไม้ สำหรับการเปิดตลาดต่างประเทศเร่งรัดการส่งออกผลไม้ไปประเทศจีนในกลุ่มอาเซียนและตลาดใหม่อย่างตะวันออกกลางและอินเดียเป็นต้น
เรื่องที่สอง การส่งเสริมสนับสนุนให้จังหวัดใช้แดนใต้ เป็น“ครัวโลกด้านอาหารฮาลาล”ในอนาคต ได้มีการคัดสินค้าที่มีศักยภาพจังหวัดละ 20 รายการ และจะเพิ่มให้เป็น 200 รายการต่อไป ในส่วนของอาหารดำเนินการให้จังหวัดชายแดนใต้เป็น “ฮับอาหารฮาลาล” ในประเทศและส่งออกไปยังต่างประเทศต่อไป
เรื่องที่สาม ส่งเสริมตลาดสมุนไพรไทย ซึ่งที่ประชุมเสนอว่า ประเทศคู่ค้าที่ควรพุ่งเป้าควรเป็นภูฏาน ตนรับจะไปหารือกับรัฐมนตรีพาณิชย์ของภูฏานในวันที่ 29 เมษายนที่จะถึงนี้ ที่จังหวัดภูเก็ตที่จะมีการประชุม JTC ไทย-ภูฏาน (การประชุมคณะกรรมการร่วมทางการค้าหรือ Joint Trade Committee)ให้ภูฏานเป็นช่องทางการตลาดอีกตลาดหนึ่งสำหรับสินค้าสมุนไพรไทย
เรื่องที่สี่ สมาพันธ์เอสเอ็มอี ต้องการให้การค้าออนไลน์ของผู้ค้ารายย่อยลดต้นทุนการขนส่ง โดยเฉพาะค่าไปรษณีย์ ตนขอไปหารือกับที่ประชุม “กรอ.พาณิชย์” ส่วนกลางกับผู้บริหารบริษัทโลจิสติกส์ที่เกี่ยวข้องต่อไป
เรื่องที่ห้า จังหวัดกระบี่ขอจัดกิจกรรมกระบี่สตรีทฟู้ด ตนได้มอบให้กระทรวงพาณิชย์ช่วยสนับสนุนให้การจัดงานนี้ เดินหน้าต่อไปได้ซึ่งมีนักท่องเที่ยวต่างประเทศเดินทางเข้ามาแล้ว
เรื่องที่หก พังงาขอให้สนับสนุนการสร้างแบรนด์และคาแรคเตอร์ของความเป็นพังงาเพื่อโปรโมทจังหวัดและสินค้าที่ผลิตในจังหวัดพังงา ได้มอบให้กรมทรัพย์สินทางปัญญาประชุมหารือหาทางสนับสนุน เพื่อโปรโมทจังหวัดต่อไปทั้งการท่องเที่ยวและการจำหน่ายสินค้า
เรื่องที่เจ็ด ศอ.บต.(ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้)จะเดินหน้าใน 3 เรื่อง
1.ต้องการให้จังหวัดชายแดนใต้เป็นเมืองปศุสัตว์ ซึ่งได้กำหนดช่วงเวลาปี 65-69 ใช้งบประมาณ 700 ล้านบาท กำลังทำแผนเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป กองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกรที่ตนรับผิดชอบเตรียมงบประมาณช่วยสนับสนุนให้จังหวัดใช้แดนใต้เลี้ยงโคจำนวน 30,000 ตัวงบประมาณ 818 ล้านบาท ประกอบด้วย จังหวัดปัตตานี 9,720 ตัว ยะลา 6,480 ตัว นราธิวาส 10,560 ตัว เพื่อเดินหน้าให้จังหวัดชายแดนใต้เป็นเมืองปศุสัตว์ต่อไป
2.สนับสนุนให้เป็นเมือง “ผลไม้” ขยายพื้นที่ปลูกผลไม้สำคัญจำนวน 400,000 ไร่เฉลี่ยปีละ 50,000 ไร่ เพื่อทำรายได้ให้กับเกษตรกรจังหวัดชายแดนใต้ เช่น ทุเรียน เป็นต้น
3.การเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดน ที่ผ่านมารัฐมนตรีช่วยฯ ท่านนิพนธ์ บุญญามณีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ช่วยขับเคลื่อนเชื่อมด่านสะเดากับฝั่งมาเลเซียอีกช่องทางหนึ่งนอกจากด่านที่มีในปัจจุบัน มีอุปสรรคในการหาจุดทำถนนเชื่อมระหว่าง 2 ประเทศ ขณะนี้ฝ่ายไทยมีข้อยุติว่าจะใช้จุดไหน ศอ.บต.เตรียมการเสนองบประมาณ 251 ล้านบาท เข้า ครม.เพื่อของบกลางในปี 65จัดทำถนน 850 เมตร ไปฝั่งมาเลเซียเสร็จปลายปี 66 ในส่วนของมาเลเซียเดือนสิงหาคมจะได้ข้อสรุปว่าจุดที่บรรจบจุดไหน จะมีส่วนช่วยในการเพิ่มมูลค่าการค้าชายแดนระหว่างกันได้เป็นจำนวนมหาศาล
นอกจากนี้ผู้สื่อข่าวระบุด้วยว่าในการประชุมได้มี นายบุณยฤทธิ์ กัลยาณมิตร ปลัดกระทรวงพาณิชย์ นายบุณย์ธีร์ พานิชประไพ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า นายชัยวุฒิ ผ่องแผ้ว นายก อบจ.สงขลา นายอำพล พงศ์สุวรรณ รองผู้ว่าราชการจังหวัดสงขลา นายธีรุตม์ ศุภวิบูลย์ผล รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ประธานสภาอุตสาหกรรม จ.สงขลา ประธานเครือข่าย MOC biz Club สงขลา สมาคมโลจิสติกส์และขนส่งภาคใต้ ตัวแทนหน่วยงานภาครัฐและเอกชน เข้าร่วมด้วย