“ละมุด” เป็นผลไม้ที่ขึ้นชื่อของประเทศในโซนอาเซียน โดยแต่ละประเทศได้มีการปรับปรุงพันธุ์ให้มีผลที่มีขนาดใหญ่ รสชาติหวาน อร่อย เป็นที่ต้องการของตลาด และขณะเดียวกันก็มีการพัฒนาพันธุ์ให้ต้นมีทรงเล็กเพื่อประหยัดพื้นที่ในการเพาะปลูก ซึ่งเป็นผลดีแก่เกษตรกรที่สนใจปลูกอีกด้วย
ละมุด เป็นพืชที่เหมาะสมในการปลูกในประเทศไทย เพราะมีภูมิอากาศร้อนชื้น โดยมีพันธุ์ละมุดพันธุ์ไทย ที่มีผลเล็กซึงปลูกกันมาตั้งแต่รุ่นบรรพบุรุษ แต่ปัจจุบันเรานิยมปลูกพันธุ์ฝรั่ง ที่มีอยู่หลายพันธุ์เลยครับ แต่ที่เห็น เกษตรกรปลูกกันเยอะก็คือพันธุ์มะกอก และพันธุ์ไข่ห่าน
ละมุดพันธุ์มะกอก เป็นพันธุ์ฝรั่งที่ได้รับความนิยมปลูกเพื่อขาย เพราะให้ผลดก ลักษณะผลเมื่อโตเต็มที่จะมีทรงรียาว คล้ายผลมะกอก แต่มีขนาดผลที่ใหญ่กว่า ผิวเปลือกมีสีน้ำตาลทอง เปลือกบาง ผิวมีขนเล็กจำนวนมาก เนื้อผลมีความละเอียดและแน่น มีกลิ่นหอมและรสชาติหวาน มีเมล็ดในผลที่มีลักษณะแบนอยู่ชิดเรียงกัน ละมุดพันธุ์นี้ทนน้ำ ปลูกได้ง่าย ส่วนละมุดพันธุ์ไข่ห่าน จะให้ผลผลิตน้อยกว่าพันธุ์มะกอก แม้ว่าผลจะมีขนาดใกล้เคียงกัน แต่เนื้อผลไม่ละเอียดเท่าพันธุ์มะกอก จึงไม่ได้รับความนิยมในการปลูกเท่าที่ควร
การเตรียมกล้าพันธุ์ละมุดส่วนมาก เราจะไม่ใช้การเพาะเมล็ด แต่ใช้กล้าพันธุ์จากการตอนกิ่งและการเสียบยอดเป็นส่วนใหญ่ สำหรับการเตรียมแปลงปลูก ถ้าเราปลูกจำนวนมากก็ต้องเตรียมดินด้วยการไถพรวนดิน พร้อมกำจัดวัชพืชเสียก่อน หลังจากนั้น ทำการขุดหลุมปลูกขนาดกว้าง 50 ซม. ยาว 50 ซม. หรือขุดเป็นวงกลมขนาด 50 ซม. ส่วนความลึกประมาณ 30 ซม. ระยะหลุม 8*8 เมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอก อัตรา 500 กรัมต่อหลุม หรือประมาณ 3-5 กำมือต่อหลุม แล้วคลุกผสมให้เข้ากันกับดินที่ใส่ก้นหลุม โดยให้ก้นหลุมสูงขึ้นมาเล็กน้อยพอเหมาะสำหรับนำกล้าลงปลูก วางกล้าพันธุ์ตรงกลางหลุม และกลบดินให้พูนขึ้นเหนือปากหลุมเล็กน้อย กลบด้วยฟางข้าวหรือเศษใบไม้ แล้วรดน้ำให้ชุ่ม
ละมุด จะให้ผลผลิตใช้เวลาประมาณ 3-4 ปีจึงจะออกผลผลิตและจะออกผลผลิตเรื่อย ๆ ตลอดทั้งปี
การเก็บละมุด สามารถสังเกตดูได้จากจุกแหลมของยอดเกสรตัวเมียซึ่งติดอยู่บริเวณก้นผลจะร่วงหายไป ไคลบนผิวเปลือกจะหลุดร่วงง่ายเมื่อถูเบาๆ สีเปลือกผลจะเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลอ่อน โดยการเก็บในต้นที่เตี้ยมักเก็บด้วยมือ แต่เมื่อต้นสูง มักใช้สวิงหรือตะกร้อสอยจากต้น เมื่อเก็บผลละมุดมาใหม่ๆ จะมียางขาวไหลออกมา ต้องนำผลไปจุ่มน้ำล้างยางออกก่อน จากนั้น ให้ล้างไคลออก โดยนำผลละมุดใส่ในสวิงที่มีตาห่างๆ แล้วรวบปากสวิงให้อยู่ในระดับผิวน้ำจากนั้นเขย่าไปมา ทำให้ยางหรือไคลที่ผิวผลหลุดออกไปผิวผลเกลี้ยงขึ้น แล้วทำการย้อมสีของเปลือกละมุดด้วยน้ำปูนแดงหรือสีผสมอาหาร ซึ่งจะจุ่มย้อมนานประมาณ 10 นาที ก่อนนำขึ้นให้สะเด็ดน้ำแล้วส่งจำหน่ายต่อไป