กองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่และการจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร นับว่าเป็นหน่วยงานใหม่ ที่จัดตั้งขึ้น ภายใต้ กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เมื่อวันที่ 12 มิถุนายน 2566 ปีที่ผ่านมา โดยเป็นหน่วยงานที่ต้องการขับเคลื่อนให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในการผลิตพืช ซึ่งจะดำเนินงานทั้งในส่วนของการศึกษาวิจัยแนวทางในการลดก๊าซเรือนกระจก การพัฒนาวิธีดำเนินการเพื่อให้ได้คาร์บอนเครดิต และ การพัฒนาบุคลากรให้มีความรู้ ในการจัดการ และเป็นผู้ตรวจประเมินและรับรองคาร์บอนเครดิตภาคการเกษตร รวมทั้งศึกษาวิจัยพืชเศรษฐกิจใหม่ที่มีแนวโน้มที่จะเป็นพืชที่มีอนาคตต่อเศรษฐกิจ ทั้งในด้านการส่งออก หรือเป็นวัตถุดิบในการแปรรูปเป็นอาหารแห่งอนาคต อาทิเช่น หมาก มะพร้าวน้ำหอม กาแฟอัตลักษณ์ กัญชา กัญชง กระท่อม ไม้เศรษฐกิจกักเก็บคาร์บอน ไข่ผำและพืชที่มีศักยภาพเป็นพืชโปรตีนทดแทนเนื้อสัตว์ เป็นต้น
นายสมคิด ดำน้อย ผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ และ การจัดการก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคเกษตร กล่าวถึงการดำเนินงานของกอง ฯ ว่า หลังจัดตั้งกองมาจะครบหนึ่งปีในเดือนหน้า กอง ฯ มีผลงานหลากหลายที่ปรากฎให้เห็นเป็นรูปธรรม แม้ว่าการทำงานทั้งสองด้านจะมีลักษณะที่แตกต่าง มีทั้งยาก และ ง่ายก็ตาม
“เรายอมรับว่า ทั้งสองชิ้นงานเป็นเรื่องใหม่ทั้งคู่ ยากทั้งสองชิ้นงาน พืชเศรษฐกิจใหม่ และก๊าซเรือนกระจกสำหรับภาคการเกษตร เพราะว่า พืชเศรษฐกิจใหม่ จะว่า มันง่าย ก็ง่าย จะว่ายากก็ยาก เนื่องจาก บางส่วนเป็นพืชเดิม บางส่วนเป็นพืชใหม่ เข้ามาอย่างเช่น พวกพืชที่มีโปรตีนสูง/โปรตีนทางเลือกอย่างเช่น ไข่ผำ ซึ่งดูเป็นเรื่องง่าย เพราะเป็นพืชที่อยู่กับเกษตรกร อยู่ในวิถีชุมชน และมีการเก็บเกี่ยวจากธรรมชาติมาปรุงอาหารรับประทาน มันมีประโยชน์สูงมาก แต่ว่ามีข้อจำกัดอยู่หลายส่วนโดยเฉพาะเรื่องของ ความปลอดภัยทางอาหาร (food safety) ซึ่งตรงนี้ เราได้ร่วมกับ กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช หน่วยงานภายในกรมวิชาการเกษตร ดำเนินการตรวจรับรองแหล่งผลิต GAP ไข่ผำ ตามมาตรฐานสินค้าเกษตร การปฎิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับพืชอาหารไปพรางก่อน ระหว่างรอมาตรฐานสินค้าสำหรับไข่ผำที่สำนักงานสินค้าเกษตรและมาตรฐานแห่งชาติ (มกอช.) กำลังดำเนินการจัดทำและจะมีการประชุมกันในเร็ว ๆ นี้
ในกลุ่มพืชอื่น ๆ บางอันเป็นพืชดั้งเดิมอย่างเช่น หมาก ต้องมาเรียนรู้ตลาด ซึ่งความต้องการเดิมยังมีอยู่ ทั้งหมากผลสุกรับประทานสด หรือมาใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม แต่ตลาดใหม่คือ หมากผลอ่อน ที่นำเอาส่วนของเปลือกมาทำเป็นของขบเคี้ยว ตรงนี้เองทำให้ต้องมาเรียนรู้กันใหม่ ตั้งแต่การหาพันธุ์หมากและเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม รวมถึงพืช 3 ก. เดิมคือ กัญชา กัญชง และกระท่อม ที่ได้เคยมีการรวบรวมพันธุ์ และศึกษาเทคโนโลยีการผลิตที่เหมาะสม เพื่อใช้ประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพไปแล้วก่อนหน้านี้
อีกด้านหนึ่งคือเรื่องของก๊าซเรือนกระจก ซึ่งประเทศไทยได้แสดงเจตนารมณ์ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และประกาศเป้าหมายการเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี พ.ศ. 2593 และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ ภายในปี พ.ศ. 2608 ซึ่งตรงนี้ในภาคเกษตรเราก็ต้องเตรียมพร้อมในเรื่องของการพัฒนาต้นแบบการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ในการผลิตพืชเพื่อรับรองคาร์บอนเครดิต และเป็นที่ปรึกษาให้กับเกษตรกร พร้อมทั้งการเป็นหน่วยตรวจรับรองคาร์บอนเครดิตภาคเกษตร เช่นเดียวกับเรื่องฝุ่นควัน pm2.5 ซึ่งตอนนี้เราต้องยอมรับว่า ภาคการเกษตรตกเป็นจำเลยสังคมอยู่ ซึ่งปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ทางภาคเหนือมาจากหลายส่วน แน่นอนว่ามาจากป่า ไฟป่า ไฟในพื้นที่โล่งแจ้ง และไฟในพื้นที่ทางการเกษตร รวมถึงหมอกควันข้ามแดนจากประเทศเพื่อนบ้านที่เข้ามา
ตรงนี้ทางกรมวิชาการเกษตรได้เตรียมการและได้เสนอกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ขับเคลื่อนเป็นแนวทางการแก้ไขปัญหาฝุ่นควัน pm2.5 ตามแนวทางของ 3R ที่จะแก้ปัญหาฝุ่นควันพิษอย่างยั่งยืน ได้แก่ R1 คือ Re-habit เป็นการเปลี่ยนพฤติกรรมเป็นการปลูกพืชแบบไม่เผา R2 คือ Replace with high value crop เปลี่ยนการปลูกพืชในพื้นที่สูงจากพืชไร่ให้มาปลูกพืชยืนต้นที่มีมูลค่าสูง และ R3 คือ Replace with alternate crop ปรับเปลี่ยนพืชในพื้นที่ราบโดยลดการปลูกข้าวนาปรังมาปลูกพืชทางเลือกแทน เพื่อให้มีผลผลิตเพิ่มมากขึ้นเนื่องจากมีการลดพื้นที่ปลูกพืชข้าวโพดในพื้นที่สูงตามแนวทาง R1 เราก็ต้องนำมาปลูกข้างล่างแทน โดยการปลูกเป็นพืชหลังนาในพื้นที่นาปรังหรือพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม ถ้าลดพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังได้ก็สามารถลดการเผาซึ่งเป็นปัญหาฝุ่นควัน PM 2.5 ได้ด้วย
ทั้งนี้ในการดำเนินงานเพื่อให้มีประสิทธิภาพในด้านที่เกี่ยวกับปัญหาฝุ่นควัน PM2.5 ทางกองใหม่ฯ ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องภายในกรมวิชาการเกษตร อันได้แต่ สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 1 เชียงใหม่ กองพัฒนาระบบและรับรองมาตรฐานสินค้าพืช และสำนักนิติการ ดำเนินการเพื่อลดปัญหาฝุ่นควันภาคเกษตรอย่างเร่งด่วนตามนโยบายของท่านอธิบดี นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ร.อ.ธรรมนัส พรหมเผ่า โดยได้มีประกาศกรมวิชาการเกษตร เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข การขอรับรองกระบวนการผลิตข้าวโพดเมล็ดแห้งแบบไม่เผาเพื่อลดปัญหาฝุ่น PM2.5 (PM 2.5 Free Plus) ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 29 เมษายน 2567 ที่ผ่านมา และกำลังดำเนินการผลักดันมาตราการร่วมกับ มกอช. เพื่อให้เป็นข้อกำหนด มกษ. ของกระทรวงฯ ต่อไป นายสมคิด กล่าว
ผู้อำนวยการกองวิจัยพัฒนาพืชเศรษฐกิจใหม่ และการจัดการก๊าซเรือนกระจก ยังกล่าวถึงผลงานที่ผ่านมาว่า ในส่วนของพืชเศรษฐกิจใหม่ เราปรับมาตรฐาน GAP พืชอาหารมาปรับใช้กับเกษตรกรที่ต้องการได้ใบรับรอง GAP ในการที่จะไปจำหน่ายผลผลิตให้กับทางผู้ประกอบการเพื่อให้เกิดความเชื่อมั่น ซี่งสามารถอ้างได้ว่าเป็นหนึ่งในผลงานของกองได้เลย ในส่วนของก๊าซเรือนกระจก ด้านสิ่งแวดล้อม ฝุ่นควัน pm 2.5 เรามีผลการศึกษาค่าฐานการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Baseline) ที่ศึกษากับพืชเศรษฐกิจ 6 ชนิดในพื้นที่ของกรม ฯ
เราได้ Baseline ของมันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน ทุเรียน และมะม่วงแล้ว และเราได้ออกไปแนะนำไปแล้วว่า ปริมาณคาร์บอนที่ได้จาก การพัฒนาโครงการจะเป็นอย่างไร รวมไปถึงน่าจะได้ข่าวดีเร็ว ๆ นี้ว่าเราผ่านความเห็นชอบ จาก สมอ. ในการจัดตั้งหน่วยรับรองตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย (VVB) ซึ่งท่านอธิบดีตั้งเป้าให้ เราจะต้องจัดตั้งหน่วยตรวจรับรองของกรมวิชาการเกษตรภายในปีนี้ ซึ่งตรงนี้เป็นผลงาน ยังไม่นับรวมคู่มือภาคประชาชนโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย ที่ออกไปก่อนหน้านี้แล้ว”
นายสมคิด กล่าว พร้อมให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า “นอกจากนี้แล้ว ทางเรา กรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยังได้เตรียมความพร้อมเพื่อรองรับกฎหมาย/มาตรฐานที่เกี่ยวข้องกับการผลิตพืชอย่างยั่งยืนอื่นด้วย อย่างเช่น กฎหมายสินค้าปลอดการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation) หรือที่รู้จักกันในชื่อ EUDR ที่จะมีผลบังคับใช้ในเร็วๆนี้ ซึ่งจะเกี่ยวข้องกับ 7 กลุ่มสินค้าที่มีการส่งออกและนำเข้าของสหภาพยุโรปประกอบด้วย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน วัว ไม้ กาแฟ โกโก้ และถั่วเหลือง รวมถึงผลิตภัณฑ์แปรรูปจากสินค้าเหล่านี้” นายสมคิด กล่าวและฝากถึงถึงพี่น้องเกษตรกร หากมีข้อสงสัย หรือ ต้องการความช่วยเหลือในงานที่กองดูแล สามารถติดต่อมาได้ ที่ เพจกรมวิชาการเกษตร สายด่วนกรมวิชาการเกษตร 1174 หรือ ที่ตึกกสิกรรม กรมวิชาการเกษตร