“โคขุน ขุนโค” สร้างอาชีพที่ชายแดนใต้ ใช้หลักวิชาการเข้าไปช่วยพัฒนาให้ไม่แพ้ภาคอื่น

“โค” เป็นส่วนหนึ่งในวิถีการดำเนินชีวิตของชาวบ้านในสามจังหวัดชายแดนใต้ ชาวบ้านนิยม “เลี้ยงโค” พื้นเมืองเพื่อบริโภคในชีวิตประจำวันและใช้บริจาคทานในช่วงเทศกาลรอมฎอน หรือที่เรียกว่า วัวบุญ ซึ่งทำให้ความต้องการโคมีสูงมาก จึงมีโคจากที่ต่าง ๆ ส่งมาขายในพื้นที่และที่นี่จึงเป็น “ตลาดโค” ที่ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศก็ว่าได้

เมื่อปริมาณความต้องการ “โค” ในพื้นที่มีมาก แต่เม็ดเงินจากการซื้อขายโคกลับไม่หมุนเวียนถึงเกษตรกรในพื้นที่ จึงมีความพยายามของหลายหน่วยงานที่จะสนับสนุนและยกระดับการเลี้ยงโคให้เป็นอาชีพหลักในพื้นที่นี้

TMR south 3 768x512 1
การเลี้ยงโคอย่างถูกวิธี

ผศ.ดร.จักรพันธ์ พิชญพิพัฒน์กุล คณบดีคณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์ เล่าว่า วิถีการเลี้ยงโคในพื้นที่ยังเลี้ยงแบบดั้งเดิม คือปล่อยให้โคหากินตามสวนหรือพื้นที่ว่างเปล่า การพัฒนาการเลี้ยงแบบจริงจังในเชิงธุรกิจหรือยกระดับให้เป็นอาชีพหลัก จึงต้องให้ความรู้เกษตรกรและมีช่องทางตลาดที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้เกษตรกรได้

นั่นจึงเป็นที่มาของ “สหกรณ์โคเนื้อมือนารอ” ที่จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2561 เพื่อส่งเสริมให้ชาวบ้านหันมาเลี้ยงโคพันธุ์ลูกผสมมากขึ้น

นอกจากสหกรณ์ฯ รับซื้อ ชำแหละ จำหน่ายและแปรรูปเนื้อโคแล้ว สหกรณ์ฯ ยังเป็นแหล่งความรู้การเลี้ยงโคพันธุ์ลูกผสมและการ “ขุนโค” ให้ได้คุณภาพ รวมถึงเป็นแหล่งวัตถุดิบอาหารโคคุณภาพให้สมาชิก

ตอนเริ่มต้นตั้งสหกรณ์ฯ มีสมาชิก 39 คน ช่วงแรกชาวบ้านก็มองว่าเลี้ยงโคพันธุ์ลูกผสมยาก แต่พอเห็นว่าขายได้ราคาดีกว่าโคพื้นเมืองในระยะเวลาเลี้ยงที่เท่ากัน ก็ให้ความสนใจกันมากขึ้น โคพื้นเมืองเลี้ยง 2 ปี ชำแหละแล้วได้เนื้อ 40 กก. แต่ถ้าเป็นโคพันธุ์ลูกผสมได้กว่า100 กก. หรือขายเป็นตัว โคพันธุ์ลูกผสมได้ 30,000 กว่าบาทแต่โคพื้นเมืองได้ 10,000 กว่าบาท” มาหะมะนาเซ และฆาเยาะ หรือ ฎอน ประธานสหกรณ์มือนารอ เล่าถึงความสนใจของชาวบ้านต่อการเลี้ยงโคพันธุ์ลูกผสม ซึ่งปัจจุบันสหกรณ์ฯ มีสมาชิก 249 ราย

“ฎอน” เป็นแกนนำที่หันมาเลี้ยงโคพันธุ์ลูกผสมอย่างจริงจัง หลังจากมีโอกาสไปเห็น “การเลี้ยงโค” ในพื้นที่อื่น เขาจึงตัดสินใจขายวัวพื้นเมืองแม่พันธุ์ 5 ตัวที่ตกทอดจากรุ่นพ่อ ปัจจุบันเขามีโคเนื้อลูกผสมพันธุ์บรามันห์และชาร์โลเล่ส์ 15 ตัว ซึ่งโดยเฉลี่ยสมาชิกสหกรณ์ฯ ที่หันมาเลี้ยงโคพันธุ์ลูกผสมจะมีโคไม่เกิน 20 ตัว และเป็นแม่พันธุ์ 5 ตัว

การผลักดันให้เกิดการเลี้ยงโคพันธุ์ในพื้นที่อาศัยความร่วมมือจากหลายหน่วยงาน ไม่ว่าจะเป็น ปศุสัตว์จังหวัด สหกรณ์จังหวัด ศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอบต.) ,ธกส., มหาวิทยาลัยนราธิวาสราชนครินทร์และ สวทช. ซึ่งความรู้ที่ถ่ายทอดให้เกษตรกร เช่น การทำคอกเลี้ยงให้ถูกสุขลักษณะ การผสมเทียม การผลิตอาหารโคตามหลักวิชาการและลดต้นทุนด้วยการใช้วัตถุดิบหลักในท้องถิ่น ไปจนถึงการดูแลและจัดการฟาร์ม

อย่างไรก็ตามการยกระดับการเลี้ยงโคพันธุ์ลูกผสมให้เป็นอาชีพ ก็ใช่ว่าจะละทิ้งโคพื้นเมือง ดังที่ ผศ.ดร.จักรพันธ์ บอกว่า เราส่งเสริมให้เลี้ยงโคพื้นเมืองคู่กับโคพันธุ์ลูกผสม ปัจจุบันสัดส่วนการเลี้ยงโคพื้นเมืองอยู่ที่ 70% โคพันธุ์ลูกผสม 30% เพราะความต้องการของตลาดในพื้นที่ไม่ได้ต้องการโคขนาดใหญ่ แต่ต้องการโคขนาดเล็กที่ใช้เป็นวัวบุญในเทศกาลรอมฎอน

การส่งเสริมให้เลี้ยงโคพันธุ์ลูกผสมจึงต้องทำคู่ขนานไปกับโคพื้นเมือง โคพื้นเมืองเลี้ยงและขายได้ทุกปี ส่วนโคพันธุ์ลูกผสม สหกรณ์รับซื้อทุก ๆ 4 หรือ 6 เดือน ทำให้ได้เงินก้อนเยอะและพยายามส่งเสริมให้เลี้ยงโคพันธุ์ลูกผสมที่มีน้ำหนัก 700-800 กก. เป็นเนื้อเกรดพรีเมี่ยมที่มีไขมันแทรกและเนื้อคุณภาพดีส่งขายทั้งในพื้นที่และส่งต่างประเทศ

“อาหารโค” เป็นปัจจัยสำคัญสำหรับการเลี้ยงโคพันธุ์ให้ได้คุณภาพ สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร (สท.) สวทช. และเครือข่ายพันธมิตร ภายใต้โครงการการผลิตอาหารโคเพื่อความยั่งยืนด้วยวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม จึงได้ส่งเสริมการผลิตอาหาร TMR และได้คิดค้นสูตรอาหารจากวัตถุดิบในแต่ละท้องถิ่น ซึ่งช่วยให้เกษตรกรลดต้นทุนค่าอาหารโคได้

“ตอนที่เลี้ยงโคพื้นเมืองก็ใช้หญ้าเนเปียร์เป็นอาหาร แต่พอหันมาเลี้ยงโคพันธุ์ลูกผสมให้ได้คุณภาพ อาหารเป็นส่วนสำคัญ ซึ่งอาหารข้นหรืออาหารเม็ดที่ขายในท้องตลาดมีราคาสูง พอได้มารู้จักอาหาร TMR และใช้วัตถุดิบในพื้นที่ จากที่เคยใช้อาหารข้นในท้องตลาด 12 บาท/กก. ใช้อาหาร TMR เหลือประมาณ 3 บาท/กก.” “ฎอน” เล่าถึงต้นทุนค่าอาหารโคที่ลดลง หลังจากได้รับการถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตอาหาร TMR จาก ผศ.ดร.จักรพันธ์ ซึ่งได้คิดค้นสูตรอาหารที่ใช้วัตถุดิบจากในพื้นที่

ผศ.ดร.จักรพันธ์ บอกว่า การใช้วัตถุดิบหลักที่มีอยู่ในพื้นที่ช่วยลดต้นทุนให้เกษตรกรและมีความยั่งยืนของวัตถุดิบ ซึ่งในพื้นที่ได้เปรียบในบางวัตถุดิบหลัก เช่น กากเนื้อในเมล็ดปาล์ม ปลาป่น เป็นวัตถุดิบโปรตีนคุณภาพดี ส่วนทางใบปาล์ม ใยปาล์ม เป็นของเหลือทิ้งที่นำมาใช้เป็นวัตถุดิบได้ หรืออาหารหยาบอย่างหญ้าเนเปียร์ที่มีตลอด แต่วัตถุดิบอื่น เช่น กากถั่วเหลือง กากข้าวโพด ยังต้องนำมาจากพื้นที่อื่น ส่วนสูตรอาหารได้กำหนดไว้เป็นมาตรฐาน แต่เกษตรกรสามารถนำไปประยุกต์ใช้วัตถุดิบตามแต่ละท้องถิ่นได้และควรให้อาหาร TMR ตลอดช่วงขุน 4-6 เดือน(อายุโคที่เข้าขุนประมาณ 2.5-3 ปี)

ข้าวโพดหวานสับละเอียด ทะลายปาล์มน้ำมัน ขี้เค้ก รำข้าว หญ้าเนเปียร์ ผสมกับอาหารข้น 15 กก. คือวัตถุดิบอาหารที่ “ฎอน” ใช้ผลิตอาหาร TMR ให้กับสมาชิกสหกรณ์ฯ โดยใช้เครื่องผสมอาหาร TMR ของสหกรณ์ฯ ที่สามารถผลิตได้ 100 กก./วัน และจำหน่ายให้สมาชิกในราคา 5 บาท/กก.

ซึ่ง”ฎอน” บอกว่า อาหาร TMR ช่วยประหยัดต้นทุนการเลี้ยงโคให้สมาชิก ส่วนคุณภาพโคพันธุ์ลูกผสมของสมาชิกฯ อยู่ที่ประมาณเกรด 2 กว่า ๆ ซึ่งสหกรณ์ฯพยายามพัฒนาให้สมาชิกเลี้ยงโคได้เกรดไขมันแทรก รวมถึงสูตรอาหารที่ต้องหาความรู้ร่วมกับอาจารย์ และการดูแลจัดการฟาร์มก็มีส่วนสำคัญด้วยเช่นกัน

ขณะที่ ผศ.ดร.จักรพันธ์ มองว่า คุณภาพของเนื้อโคขุนในพื้นที่ยังอยู่ในระดับกลาง ซึ่งคุณภาพของวัตถุดิบอาหารเป็นปัจจัยสำคัญ ในพื้นที่ยังมีวัตถุดิบไม่หลากหลาย จึงได้มีแผนร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายส่งเสริมการผลิตวัตถุดิบในพื้นที่ให้มากขึ้น เช่น การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

“คุณภาพวัวแตกต่างจากภาคอื่นตามคุณภาพวัตถุดิบ แต่เราสามารถใช้หลักทางวิชาการเข้าไปช่วยพัฒนาให้ไม่แพ้ภาคอื่นได้” ผศ.ดร.จักรพันธ์ กล่าวทิ้งท้าย

ที่มา- สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร ( สท. )