วันที่ 4 กรกฎาคม 2565 ที่กรมชลประทาน ถนนสามเสน กรุงเทพมหานคร นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดโอกาสให้ นายสัญชัย เกตุวรชัย อดีตอธิบดีกรมชลประทาน ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการสวัสดิการทุนการศึกษาต้นกล้าเกษตรคืนถิ่นเพื่อความยั่งยืน กรมชลประทาน นายชัยยะ พึ่งโพธิ์สภ ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาการชลประทาน นายพิเชษฐ รัตนปราสาทกุล ผู้อำนวยการสำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรม และผู้เกี่ยวข้อง นำ “บุตรเกษตรกร” ผู้ได้รับทุนการศึกษา รุ่นที่ 1 จากโครงการ “ต้นกล้าเกษตรคืนถิ่นเพื่อความยั่งยืน” เข้าพบ เพื่อรับมอบโอวาทและแนวคิดในการปฏิบัติงานเนื่องในโอกาสที่สำเร็จการศึกษาและเข้าร่วมงานกับหน่วยงานกรมชลประทาน
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า กรมชลประทานได้สนับสนุนโอกาสทางการศึกษาให้กับ “บุตรเกษตรกร” มาตั้งแต่ปี 2561 ตามนโยบายของ พลเอกฉัตรชัย สาริกัลยะ รองนายกรัฐมนตรีในขณะนั้น ได้มอบนโยบายให้กับ ดร.ทองเปลว กองจันทร์ ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สมัยที่ยังดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมชลประทาน และนายกสมาคมศิษย์เก่าวิศวกรรมชลประทานในพระบรมราชูปถัมภ์ โดยการนำ “บุตรเกษตรกร”ที่เรียนจบชั้น ม.6 มีคุณสมบัติตามที่กำหนดมาเรียนต่อหลักสูตร วิศวกรรมศาสตรบัณฑิต (วิศวกรรมโยธา-ชลประทาน) ที่วิทยาลัยการชลประทาน สถาบันสมทบมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ภายใต้ความร่วมมือระหว่างกรมชลประทานกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
ซึ่งบุตรเกษตรกรจะได้รับทุนการศึกษา “ต้นกล้าเกษตรคืนถิ่นเพื่อความยั่งยืน” ตลอดระยะเวลาการศึกษา 4 ปีตามหลักสูตร เมื่อศึกษาจบแล้วมีโอกาสเข้าทำงานกับกรมชลประทานในท้องถิ่นบ้านเกิดตนเองหรือตามที่กรมชลประทานกำหนด เพื่อเป็นการให้ความรู้ทักษะวิชาชีพด้านการชลประทานซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาการเกษตรไทย สามารถสนับสนุนภารกิจกรมชลประทานเพื่อเกษตรกรต่อไป
สำหรับโครงการดังกล่าว เริ่มต้นจากปีที่ 80 ของการก่อตั้งโรงเรียนการชลประทานหรือวิทยาลัยการชลประทาน ซึ่งในปีนี้ พ.ศ. 2565 เป็นปีที่ 84 แล้ว มีบุตรเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 46 คน กำลังศึกษาอยู่ 42 คน
และมีบุตรเกษตรกรรุ่นที่ 1 จำนวน 4 คนได้สำเร็จการศึกษาแล้ว ได้แก่ นายนนทกานต์ โพธิ์ศรี นางสาวรัตยาภรณ์ คำสุขขา นายวีรภัทร รักษาพล และนางสาวสุนิสา รัตนอุบล กรมชลประทาน จึงได้วางแนวทางให้บุตรเกษตรกรดังกล่าว ได้ใช้ความรู้ความสามารถตามที่ได้เล่าเรียนมา เข้าร่วมปฏิบัติงานในฐานะผู้ช่วยนักวิจัย ในความดูแลของสถาบันพัฒนาการชลประทานและให้ฝึกปฏิบัติงาน On the Job Training ด้านการศึกษาความเหมาะสมของโครงการพัฒนาแหล่งน้ำ สำนักบริหารโครงการ และด้านการออกแบบอาคารชลประทานและระบบชลประทาน สำนักออกแบบวิศวกรรมและสถาปัตยกรรมเพื่อพัฒนาต่อยอดองค์ความรู้ทางวิชาการก่อนที่จะสอบบรรจุเข้าทำงานกับกรมชลประทานในอนาคตต่อไป