หลายคนคงเคยคิดว่าการใส่ “ปุ๋ย” ให้พืชมาก ๆ พืชจะโตเร็ว งามไว สวยใสไร้ที่ติ
แต่ในความเป็นจริงแล้ว หากเรามาคิดดี ๆ พืชก็เป็นสิ่งมีชีวิตเหมือนกับคนเราที่มีช่วงชีวิตในการเจริญเติบโต เราไม่สามารถใส่ปุ๋ย 2 เท่า แล้วทำให้ต้นไม้อายุ 2 ปี โตเท่ากับต้นไม้อายุ 4 ปีได้
และให้ลองนึกถึงต้นไม้ในธรรมชาติไม่มีใครใส่ปุ๋ยเลยยังอยู่รอดได้หลายล้านปี
ดังนั้นเราควรตระหนักไว้เสมอว่าอย่าใส่ “ปุ๋ย” ให้กับพืชมากเกินไป พืชไม่ได้ต้องการปุ๋ยมากขนาดนั้น
นอกจากนี้การให้ “ปุ๋ย” ที่มากเกินไปอาจทำให้ “พืชตาย” ได้ด้วยซ้ำเนื่องจากพืชจะดูดซึมแร่ธาตุด้วยกระบวนการออสโมซิส(Osmosis) ซึ่งเป็นกระบวนการแพร่โมเลกุลของของเหลวหรือน้ำผ่านเยื่อเลือกผ่าน จากบริเวณที่มีความเข้มข้นของน้ำมาก (สารละลายความเข้มข้นน้อย) ไปยังบริเวณที่มีความเข้มข้นของน้ำน้อย (สารละลายมีความเข้มข้นมาก)
ดังนั้นหากเราใส่ “ปุ๋ย” พอเหมาะ ภายในเซลล์ของรากพืชจะมีความเข้มข้นของสารละลายมากกว่าดินโดยรอบที่ใส่ปุ๋ยแบบพอดี ทำให้น้ำจากดินออสโมซิสผ่านเข้าไปในขนราก (Root hair) ของพืชและลำเลียงไปตามท่อลำเลียงน้ำ (Xylem) ไปยังส่วนต่าง ๆ ของพืชได้
แต่ในทางกลับกันหากเราใส่ปุ๋ยมากเกินไป จะทำให้ดินโดยรอบรากพืชมีความเข้มข้นของสารละลายสูงกว่าสารละลายในรากพืช ก็จะทำให้น้ำออสโมซิสออกจากรากพืชไปยังดินโดยรอบ พืชจึงต้องใช้พลังงานในการรักษาสมดุลน้ำมากมายทำให้เติบโตได้ช้าหรืออาจสูญเสียน้ำทำให้เซลล์เหี่ยว และหากไม่ดูแลแก้ไขอย่างทันท่วงทีพืชก็อาจจะตายในที่สุด
เพราะที่จริงพืชใช้ธาตุอาหารอย่างพอดี เมื่อเราให้ปุ๋ยอย่างสมดุล พืชก็แข็งแรง
ลองนึกเปรียบเทียบกับเด็กหนึ่งคน หากเราให้กินมากขึ้น 2 เท่า ก็ไม่สามารถทำให้โตเท่ากับเด็ก 10 ขวบ ในเวลาแค่ 5 ปี
เด็กที่ได้รับสารอาหารอย่างเพียงพอครบ 5 หมู่ จะสามารถเติบโตตามพัฒนาการได้อย่างสมบูรณ์ แข็งแรง ฉลาด สดใส
เช่นเดียวกับพืชที่ได้รับธาตุอาหารอย่างพอดี
ถ้าให้ปุ๋ยมากเกินความต้องการของพืช โดยให้มานานช่วงระยะเวลาหนึ่ง
สิ่งที่จะตามมาก็คือ
1.ปุ๋ยที่เหลือตกค้าง พืชดูดซึมเกินกว่าความต้องการแล้วตกค้างอยู่ในเนื้อเยื่อ ทำให้ไปดึงดูดแมลงมาช่วยกิน ธรรมชาติจะพยายามกลับสู่จุดสมดุลเสมอ ตรงไหนที่มีแร่ธาตุมีอาหารมากก็จะมีสิ่งมีชีวิตหลายชนิดเข้ามา ปัญหาแมลงกัดกินใบและเกิดหนอนจึงมากกว่าเดิม
2.ปุ๋ยที่มากเกินไปที่ดูดซึมตกค้างในเนื้อเยื่อกลายเป็นอาหารของเชื้อรา เมื่อปุ๋ยมากก็จะทำให้พืชอ่อนแอ เมื่อแมลงกัดกินเกิดบาดแผล เนื้อเยื่อที่มีอาหารมากอยู่แล้วก็ทำให้เชื้อราเกิดขึ้นได้ง่ายกลายเป็นสวนที่ติดโรคเชื้อราลุกลามอย่างรวดเร็วและทั้งสวน นานเข้า ๆ รักษาไม่หายก็ยืนต้นตายไปทีละต้น
3.ต้นหยุดการเติบโตหรือไม่ตอบสนองต่อปุ๋ยอีกต่อไป หลายคนอาจคิดว่าเพราะต้นไม้ของเราอายุมากแล้ว จึงให้ผลผลิตน้อยลง ใส่ปุ๋ยอะไรก็ไม่ตอบสนอง
ที่จริงแล้ว “ปุ๋ย “ที่ใส่ในปริมาณมากอย่างต่อเนื่อง ได้ทำลายดินทำให้จุลินทรีย์หายไปจนเกิดดินเสีย เมื่อดินเสียพืชจึงไม่ตอบสนองต่อปุ๋ยที่ให้อีกต่อไปแล้ว
4. หนักเข้าจริง ๆ ต้นน็อคปุ๋ย ใบเหลือง ถอดใบ ต้นหยุดการเจริญเติบโตแม้ว่าต้นจะยังเล็กอยู่ ใบเหลืองพร้อมกันทั้งต้น และทิ้งใบในไม่กี่วัน อาการน็อคปุ๋ยทำให้ต้นหยุดการเติบโตในทันที หรือต้นแห้งตายไปเฉย ๆ
5.ดึงแมลงหรือสัตว์จำพวกย่อยสลายมากินต้น เพราะสัตว์ย่อยสลายเหล่านี้คิดว่าต้นใกล้จะตายแล้ว เช่น มอด ปลวก ฯลฯ ซึ่งปกติไม่กินพืชที่มีสุขภาพดีแข็งแรง แต่จะเข้าทำลายพืชที่มีอาการป่วยหนัก ๆ ใกล้ตาย กลับมาให้ปุ๋ยให้พอดีกับความต้องการของพืช เพื่อให้พืชเติบโตตามช่วงเวลาได้อย่างดีที่สุด แข็งแรงและสมบูรณ์ตามธรรมชาติ
สรุปว่า อยากให้พืชเติบโตในอัตราที่เร็วที่สุดนั้น ไม่ควรใส่ปุ๋ยมากมาย ให้ใส่ปุ๋ยให้พอดี