ประเทศไทยมี “สมุนไพร” กว่า 10,000 ชนิด โดยร้อยละ 15.5 ของชนิดสมุนไพร สามารถนำมาใช้ประโยชน์ในด้านต่าง ๆ ซึ่งการสนับสนุนส่งเสริมองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตสมุนไพรตั้งแต่แปลงปลูกถึงการแปรรูป เป็นสิ่งสำคัญที่จะหนุนเสริมศักยภาพของ “สมุนไพรไทย” ให้ได้ทั้งคุณภาพและมาตรฐาน เพิ่มโอกาสการแข่งขันในตลาดทั้งในและต่างประเทศ สร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนในระดับชุมชนไปพร้อมกับการสร้างความมั่นคงและความยั่งยืนของทรัพยากรทางชีวภาพของไทย
สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร(สท.) ร่วมกับผู้เชี่ยวชาญด้าน “สมุนไพร” มหาวิทยาลัยแม่โจ้ ถ่ายทอดองค์ความรู้และเทคโนโลยีการผลิตพืชสมุนไพรอินทรีย์ให้กลุ่มเกษตรกรในจังหวัดพัทลุง ลำปางและตาก เพื่อยกระดับ “การผลิตสมุนไพร” ให้ได้ทั้งคุณภาพและปริมาณผลผลิตให้เหมาะสมต่อการนำไปใช้ประโยชน์ตามบริบทของชุมชน
วิถีของคนใต้คุ้นเคยกับ“พืชสมุนไพร” ทั้งตะไคร้ ขิง ข่า ขมิ้น ซึ่งเป็นวัตถุดิบสำคัญในเครื่องแกงใต้ ชาวบ้านจึงมักปลูกไว้ใช้ในครัวเรือน หรือปลูกแซมในสวนยางพารา
“ศูนย์ฯ มาเน้นขับเคลื่อนสมุนไพรเมื่อช่วงปี 2562 จัดเวทีแลกเปลี่ยนการใช้ประโยชน์เชิงการแพทย์จากภูมิปัญญา แล้ว สวทช. ได้เข้ามาทำในเชิงงานวิจัยไปด้วย เราอยากได้องค์ความรู้มาหนุนเสริมภูมิปัญญา ” อุทัย บุญดำ หรือ พ่อเล็ก ผู้ประสานงานเครือข่ายสินธุ์แพรทอง ต.ลำสินธุ์ อ.ศรีนครินทร์ จ.พัทลุง บอกเล่าถึงจุดเริ่มต้นการยกระดับ “อาหารเป็นยา” จากสมุนไพร และการทำงานร่วมกับ สวทช. ภายใต้โครงการการยกระดับการผลิตพืชสมุนไพรคุณภาพด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
“เครือข่ายสินธุ์แพรทอง” เป็นที่รู้จักกันดีในแวดวงงานพัฒนาชุมชน เป็นชุมชนเก่าแก่ที่มีต้นทุนความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ มีประวัติศาสตร์การต่อสู้ทางอุดมการณ์การเมือง ที่หล่อหลอมให้เกิดการทำงานร่วมกันของทั้ง 9 หมู่บ้านในตำบลลำสินธุ์เพื่อร่วมแก้ปัญหาและพัฒนาชุมชนภายใต้ยุทธศาสตร์ขับเคลื่อน 5 ด้าน คือ สังคมชุมชน สิ่งแวดล้อมชุมชน เศรษฐกิจชุมชน อนุรักษ์ศิลปวัฒนธรรม สมุนไพรและภูมิปัญญาโดยมีศูนย์เรียนรู้เครือข่ายสินธุ์แพรทอง เป็นจุดศูนย์กลาง
ศูนย์ฯ มีแนวคิดเน้นเรื่องสุขภาพมากขึ้นใช้อาหารเป็นยา มองในแง่การพึ่งตนเอง ปลูก “ขมิ้นชัน” แล้วเอามาใช้ประโยชน์ทางยาในชุมชน ถ้าใช้เองได้และใช้ดีด้วย ปลายทางก็เป็นเศรษฐกิจได้ แต่เราต้องรู้จักและเรียนรู้ก่อน มีสารสำคัญอะไร ปลูกอย่างไรให้ได้ตัวยามาก
การปลูก “สมุนไพร “ให้ได้คุณภาพและมาตรฐาน เป็นจุดเริ่มการถ่ายทอดความรู้จาก สวทช. และดร.เทิดศักดิ์ โทณลักษณ์ มหาวิทยาลัยแม่โจ้ โดยสมาชิก 30 รายร่วมเรียนรู้การปลูกขมิ้นชัน ไพล ตะไคร้หอม ทั้งระบบปลูกในโรงเรือน ปลูกในกระถางและปลูกนอกโรงเรือน เพื่อศึกษารูปแบบการปลูกที่ให้คุณภาพทั้งผลผลิต สารสำคัญและการให้น้ำ
ปลูกในกระถางหรือในโรงเรือนลงทุนสูง แต่ควบคุมจัดการดินและน้ำได้ โดยเฉพาะถ้าปลูกเพื่อทำเป็นยา ใช้ได้สนิทใจกว่า บอกได้เต็มปากว่าปลอดภัยจากสารพิษ ปลูกแบบชาวบ้าน ต้นทุนน้อย แต่ผลผลิตที่ออกมามีสารตกค้างในดิน เคยส่งขมิ้นตรวจ เจอสาร ตกค้างพวกโลหะหนัก สารหนู ” พ่อเล็ก เล่าถึงการเรียนรู้เชิงวิจัยที่ทำร่วมกับ สวทช. มา 2 ปี ซึ่งผลผลิตขมิ้นชันในปีแรก สมาชิกเก็บมาทำหัวพันธุ์และได้ส่งตรวจปริมาณสารเคอร์คูมินอยด์ได้ร้อยละ 6
ที่ผ่านมาชาวบ้านปลูกก็อาศัยประสบการณ์ พอมาเรียนรู้กับ สวทช. และอาจารย์ก็ได้ความรู้ใหม่ รู้จักส่วนต่าง ๆ ของขมิ้น ส่วนไหนลำต้นจริง ลำต้นเทียม หน้าที่ทำอะไร การจัดการโรค การให้ปุ๋ยอินทรีย์ต้องใช้เมื่อไหร่ และได้เทคนิคการปลูกที่สำคัญคือ การคัดเลือกหัวพันธุ์ที่สะอาด ไม่เป็นโรคก่อนไปลงปลูก รวมทั้งรู้จักการเก็บข้อมูล สร้างนักวิจัยชุมชนและเรียนรู้กระบวนการร่วมกัน
นอกจากเรียนรู้และเก็บข้อมูลการปลูกแล้ว สมาชิกยังได้ทดลองพัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบ เช่น น้ำพริกขมิ้นชัน ลูกประคบจากไพล โลชั่นไพล น้ำมันนวดไพล สเปรย์ตะไคร้หอม
แนวคิดการพึ่งตนเองเป็นแนวคิดสำคัญของการขับเคลื่อนการทำงานของเครือข่ายสินธุ์แพรทอง ทั้งการพึ่งตนเองในด้านอาหาร พลังงานและเศรษฐกิจ ซึ่ง พ่อเล็ก บอกว่า การพึ่งตนเองได้ในทางเศรษฐกิจ คือ ปลูกเป็น แปรรูปเป็น และขายเป็น
“ศูนย์เรียนรู้สมุนไพรครบวงจร” คือเป้าหมายของพ่อเล็กและสมาชิก ที่จะเป็นพื้นที่เรียนรู้และท่องเที่ยวเชิงเกษตรสุขภาพ มีเรื่องเล่าและกิจกรรมสมุนไพรจากแปลงปลูกมาตรฐาน “เกษตรอินทรีย์แบบมีส่วนร่วม” (PGS) จนถึงการแปรรูปตามมาตรฐาน อย.
“เราเริ่มจากแบบเล็ก ๆ แต่มีความรู้การปลูก ปลูกให้ได้คุณภาพได้สารสำคัญ ในสังคมปัจจุบันถ้าไม่มีองค์ความรู้ จะค้าขายหรือยกระดับเป็นธุรกิจมันมีการแข่งขัน เราต้องมีองค์ความรู้พอสมควรแล้วถ้าเราจะทำเชิงการค้า เราจะยั่งยืนกว่า แต่เราต้องเรียนรู้ก่อน มันอาจจะช้า แต่มั่นคง”
ผลตรวจเลือดของเกษตรกรที่อยู่ในระดับไม่ปลอดภัย เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้หลายหน่วยงานพยายามส่งเสริมให้เกษตรกรปรับเปลี่ยนวิถีการผลิตจากเกษตรเคมีมาเป็นเกษตรปลอดภัย เช่นเดียวกับที่องค์การบริหารส่วนตำบลวอแก้ว อ.ห้างฉัตร จ.ลำปาง ผลักดันให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชระบบปลอดภัยและมีตลาดรองรับให้เกษตรกร จนเกิดการรวมกลุ่มในนาม “วิสาหกิจชุมชนเกษตรอินทรีย์ตำบลวอแก้ว” เมื่อปี 2558 ผลผลิตของกลุ่มทั้งข้าวอินทรีย์และพืชผักอินทรีย์ได้รับมาตรฐาน Organic Thailand ส่งจำหน่ายในตลาดชุมชน ตลาด We Market ท็อปส์ ซูเปอร์มาร์เก็ต และโรงพยาบาลศูนย์ลำปาง
“กระชายดำ” เป็นพืชใหม่และเป็นโอกาสใหม่ให้ชาวบ้าน เราหวังว่ากระชายดำจะเป็นพืชสร้างรายได้ให้ชาวบ้าน อย่างน้อยตอนนี้ก็มีตลาดรองรับ” สายัณห์ ฉัตรแก้ว หัวหน้าสำนักปลัดอบต.วอแก้ว และผู้ประสานงานกลุ่มวิสาหกิจฯ บอกถึงโอกาสของชาวบ้านจากการ “ปลูกกระชายดำ” เพื่อผลิตส่งให้บริษัทแปรรูปสมุนไพร ซึ่งเกิดจากการเชื่อมโยงตลาดของ สวทช. โดยราคารับซื้ออยู่ที่ 500-800 บาท/กก. ขึ้นอยู่กับลักษณะทางกายภาพและปริมาณสารสำคัญกลุ่มฟลาโวนอยด์และฟีนอลิกในกระชายดำและราคาตลาดในขณะนั้น
“กระชายดำ” เป็นสมุนไพรที่น้อยคนในพื้นที่จะรู้จัก เมื่อมีตลาดรอรับซื้อแล้ว การปลูกให้ได้ทั้งปริมาณและคุณภาพเป็นเรื่องสำคัญที่สมาชิกฯ คำนึงถึง สวทช. จึงได้เชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ ร่วมทำงานกับกลุ่มวิสาหกิจฯ และอบต. ภายใต้โครงการสนับสนุนวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมเพื่อชุมชน (CTAP) เพื่อถ่ายทอดเทคโนโลยีการผลิตกระชายดำใน “ระบบเกษตรอินทรีย์” ตั้งแต่การปลูกถึงแปรรูป
“เป็นสมุนไพรใหม่ ไม่เคยรู้จักมาก่อน ก็น่าสนใจที่จะลองปลูก ใช้พื้นที่ปลูกประมาณ 100 ตารางวา ดูแลไม่มาก ถ้าผลผลิตออกมาดี ก็จะปลูกต่อ จะได้มีผลผลิตทั้งผักอินทรีย์และสมุนไพรอินทรีย์” อังศุมาลิน สุทธวัฒน์ หนึ่งในสมาชิกที่อาสาทดลองปลูกกระชายดำ
“เนื่องจากเป็นพืชใหม่ในพื้นที่ มีสมาชิกฯ 10 คน อาสาทดลองปลูก ยังไม่คาดหวังเรื่องผลผลิตและรายได้ในปีแรก มองว่าเป็นจุดเริ่มต้นเรียนรู้ให้กลุ่มฯ เก็บข้อมูลลักษณะพื้นที่ที่เหมาะสม การให้ปุ๋ยและน้ำ เพื่อพัฒนาการปลูกในปีต่อไป” สายัณห์ เล่าถึงการส่งเสริมปลูกกระชายดำในช่วงปีแรก โดยมีพื้นที่ปลูกรวม 3 ไร่ สมาชิกกลุ่มฯ ที่เข้าร่วมใช้พื้นที่ตามความเหมาะสมของตัวเอง บ้างใช้พื้นที่นา แปลงผัก พื้นที่ข้างบ้านหรือใต้ต้นไม้ใหญ่หลังบ้าน ซึ่งจากการติดตามของ สายัณห์ ทำให้เห็นข้อแตกต่างของพื้นที่ปลูกกระชายดำ
“กระชายดำต้องการที่ร่มรำไร การเจริญเติบโตของต้น ใบ การแตกหน่อดีกว่า การปรุงดินก็มีส่วน บางแปลงเป็นดินที่เคยทำนา อินทรียวัตถุน้อย บางแปลงเป็นพื้นที่สวน ปรุงดินดี ทรงพุ่มเยอะโต แตกหน่อดี ผลผลิตก็จะเยอะ”
จากการทดลองปลูกในปีแรก ผลผลิตที่คาดว่าจะได้ประมาณ 1,000 กก. ซึ่งส่วนหนึ่งจะเก็บเป็นหัวพันธุ์สำหรับฤดูกาลปลูกหน้า อีกส่วนจะนำมาแปรรูปฝานเป็นแว่น ตากแห้งและส่งตัวอย่างให้บริษัทที่รับซื้อตรวจสอบปริมาณสำคัญก่อนที่จะส่งจำหน่าย
“ตอนนี้กลุ่มฯ ได้สร้างโรงตากไว้รองรับการผลิตสมุนไพรตากแห้ง ซึ่งกระชายดำเป็นสมุนไพรนำร่อง และยังมีสมุนไพรอื่นๆ ที่ทางกลุ่มฯ เริ่มปลูกและเรียนรู้ เช่น ขมิ้นชัน ซึ่งจะเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่เพิ่มรายได้ให้สมาชิกกลุ่มฯ ได้ต่อไป” สายัณห์ บอกทิ้งท้าย
เสาวลักษณ์ มณีทอง และ ชลเทพ ปานดำ หนุ่มสาวคนรุ่นใหม่ที่กลับคืนถิ่นมาทำเกษตร ด้วยทักษะด้านไอทีของพวกเขาเป็นต้นทุนเข้าถึงแหล่งความรู้และการตลาด หนุนเสริมการกลับมาปลูกพืชสมุนไพรเพื่อแปรรูป โดยเริ่มจากผลิตภัณฑ์สมุนไพรสำหรับคุณแม่หลังคลอด
เกษตรกรที่บ้านเราก็ปลูกกล้วย ตะไคร้ กะเพรากันอยู่แล้ว เราก็เอาตลาดมาให้และส่งเสริมการปลูกให้ได้ตามคุณภาพที่เราต้องการ ของที่เราส่งให้คนอื่น ก็เทียบกับเราทำให้ลูกเราพ่อแม่เรากิน โดยเฉพาะสมุนไพรเป็นสิ่งที่รักษาคน ชลเทพ ซึ่งรับผิดชอบงานส่งเสริมเกษตรกร เล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มของวิสาหกิจชุมชนแปรรูปสมุนไพรปลูกรัก ต.พระธาตุ อ.แม่ระมาด จ.ตาก ที่รับปลูกและแปรรูป โดยเน้นวัตถุดิบคุณภาพและมีมาตรฐานตั้งแต่แปลงปลูกถึงโรงงานแปรรูป
การทำสมุนไพรอินทรีย์จึงเป็นแนวทางที่ทั้งสองส่งเสริม โดยหาแหล่งความรู้จากหน่วยงานต่าง ๆ เช่นเดียวกับที่ได้ติดต่อ สวทช. เพื่อหาเทคโนโลยีสนับสนุนการทำ “เกษตรอินทรีย์” ของกลุ่มฯ โดยเริ่มจากเทคโนโลยีการเลี้ยงไส้เดือนดินเพื่อทำปุ๋ยอินทรีย์จนมาถึงการเพิ่มผลผลิต “ขมิ้นชัน” ในแปลงและการทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
จากที่เคยส่งเสริมและรับซื้อสมุนไพรสำหรับแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับคุณแม่หลังคลอด จนวันหนึ่ง เสาวลักษณ์ รับซื้อขมิ้นชันจากกลุ่มเกษตรกรที่ได้รับส่งเสริมหัวพันธุ์ แต่กลับไม่มีตลาดให้ เธอจึงรับซื้อแทนที่จะปล่อยทิ้งให้เน่าเสีย และนำมาแปรรูปเป็นผงขมิ้นชงดื่ม ซึ่งยังไม่เคยมีใครผลิตมาก่อน ผลิตภัณฑ์ของกลุ่มฯ จึงได้รับผลตอบรับที่ดีจากลูกค้า จากวันนั้นทำให้ทั้งสองหันมาส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกขมิ้นชันเป็นพืชเสริม ปัจจุบันมีเกษตรกรกว่า 300 ครอบครัวใน 5 อำเภอของจังหวัดตากที่ปลูกขมิ้นชันส่งให้กลุ่มฯ ได้แก่ อ.แม่ระมาด อ.พบพระ อ.อุ้มผาง อ.ท่าสองยาง และอ.แม่สอด
เรามักมองการสร้างมูลค่าเพิ่มที่ปลายน้ำ ผลิตภัณฑ์ต้องแปรรูป ต้องใส่นวัตกรรม แต่จริง ๆ แล้วมูลค่าเริ่มได้ตั้งแต่ต้นทางคือ ดินที่ปลูก แปลงเกษตรที่มี เราไม่ได้บอกว่าแปลงนี้คือแปลงเกษตรธรรมดา แต่แปลงนี้คือแปลงเกษตรอินทรีย์มาตรฐานระดับโลก ที่ตั้งใจจะส่งเสริมการฟื้นคืนป่าอาหารที่สมบูรณ์” เสาวลักษณ์ เล่าถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการทำมาตรฐานเกษตรอินทรีย์สากล USDA ซึ่งเป็นใบเบิกทางให้ “ขมิ้นชัน” ของกลุ่มฯ ส่งออกหัวสดไปประเทศเนเธอร์แลนด์แล้ว 160 ตันเมื่อปลายปี 2564 และในช่วงปี 2562-2563 ได้ส่งขมิ้นชันหัวสดให้องค์การเภสัชกรรมกว่า 57 ตัน มีปริมาณสารเคอร์คูมินไม่ต่ำกว่า 8%
“เรามีศักยภาพการผลิต ผลผลิตมีคุณภาพได้มาตรฐาน และมีโรงงานแปรรูปที่ได้มาตรฐานทั้ง GMP HACCP จึงเป็นจุดเด่นของกลุ่มฯ”
ปัจจุบันผลิตภัณฑ์ของกลุ่มฯ ประกอบด้วย ผลผลิตขมิ้นชันสด ขมิ้นชันแห้ง ขมิ้นชันผงสำหรับปรุงอาหาร ขมิ้นชันผงสำหรับชงดื่ม ผงชงดื่มกล้วยน้ำว้าดิบ ภายใต้แบรนด์ Plant Love และปันแสน
วันนี้ขมิ้นชันของกลุ่มฯ ส่งออกตลาดต่างประเทศ บรรลุความต้องการ “นำสมุนไพรไทยไปสู่ตลาดโลก” แต่ภายใต้เป้าหมายการตลาดนี้ ยังแฝงไว้ด้วยเป้าหมายด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญยิ่งกว่า นั่นคือ การสร้างป่าอาหารกลับคืนมา
“ขมิ้นชัน” เป็นพระเอกนำร่องที่ทำให้คนรู้จักและเชื่อมั่นเราว่าเกษตรกรปลูกแล้วขายได้จริง หลังจากขมิ้นชันได้รับการยอมรับแล้ว ชาวบ้านจะปลูกพืชอื่นเพิ่ม แล้ววันหนึ่งเราจะเปลี่ยนพื้นที่เขาหัวโล้นให้เป็นป่า เป็นระบบนิเวศที่สมบูรณ์ได้ การคืนชีวิตให้แผ่นดินให้เป็นป่าอาหาร เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในเป้าหมายของเรา” เสาวลักษณ์ เน้นย้ำเป้าหมายที่อยากให้บ้านกลับมาเป็นป่าที่สมบูรณ์อีกครั้งเหมือนภาพจำในวัยเด็กของเธอ ที่เติบโตมาพร้อมกับความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าในจังหวัดตาก
การผลิตสมุนไพรของกลุ่มฯบนเส้นทาง “เกษตรอินทรีย์” จึงไม่เพียงปลอดภัยต่อเกษตรกรผู้ผลิต ผู้บริโภคและสิ่งแวดล้อม หากยังมีกระบวนการผลิตที่ใช้ทรัพยากรอย่างรู้คุณค่าทั้งเศษเหลือทิ้งจากการแปรรูปถูกแปรเปลี่ยนเป็นปุ๋ยอินทรีย์ การคืนกำไรสร้างความสมบูรณ์ให้ผืนป่าจากกิจกรรมปลูกต้นไม้ ทำฝายต้นน้ำ ตลอดจนสร้างงานสร้างรายได้ให้ชาวบ้านอีกด้วย
ที่มา- สถาบันการจัดการเทคโนโลยีและนวัตกรรมเกษตร ( สท. )