นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตรได้ขับเคลื่อนภารกิจในการถ่ายทอดความรู้ด้านการเกษตรให้แก่พี่น้องเกษตรกรทั่วประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องของปัจจัยสำคัญต่อการเพาะปลูกคือ การใช้พันธุ์พืชที่ดี สะอาดปลอดภัย และสามารถให้ผลผลิตทางการเกษตรตอบแทนได้ในปริมาณสูงและมีคุณภาพควบคู่กันไป รวมถึงปัจจัยด้านการป้องกันกำจัดโรคและศัตรูพืช เพื่อลดความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบต่อรายได้ของเกษตรกร โดยหนึ่งในพืชเศรษฐกิจสำคัญของประเทศไทยที่กรมส่งเสริมการเกษตรกำลังขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้คือ มันสำปะหลัง เนื่องจากตลาดยังมีความต้องการผลผลิตสูง ในขณะที่เกษตรกรไทยสามารถเพาะปลูกให้ได้ผลผลิตในปริมาณที่ยังไม่เพียงพอต่อความต้องการของตลาด กรมส่งเสริมการเกษตร จึงส่งเสริมและสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ส่งเสริมการเกษตรศึกษาข้อมูลความรู้วิชาการด้านพันธุ์มันสำปะหลังสะอาด ทนทาน และต้านทานโรค รวมถึงนำไปวิเคราะห์สังเกตในแปลงทดสอบของกรมส่งเสริมการเกษตรในระดับพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่เกษตรกรประกอบอาชีพเพาะปลูกมันสำปะหลัง เพื่อให้ได้ผลลัพธ์อย่างเหมาะสมตรงกับความเป็นจริงในพื้นที่เพาะปลูกนั้น ๆ โดยมีหน่วยงานภาคีคือ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการศึกษาวิจัยพันธุ์มันสำปะหลัง จับมือแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ใหม่ด้านพันธุ์และเทคโนโลยีด้านการเกษตรต่าง ๆ
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการเกษตรหารือเบื้องต้นกับมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เพื่อร่วมขับเคลื่อนและเตรียมพร้อมส่งมอบเทคโนโลยีด้านพันธุ์มันสำปะหลังเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและควบคุมโรคใบด่างมันสำปะหลัง ขณะนี้กรมส่งเสริมการเกษตรได้เดินหน้าทดสอบพันธุ์มันสำปะหลังในแปลงทดสอบของศูนย์ขยายพันธุ์พืช จำนวน 8 ศูนย์ ซึ่งตั้งอยู่ครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกมันสำปะหลังทั่วประเทศ ควบคู่กับการศึกษางานวิจัยปัจจัยแวดล้อมที่อาจจะส่งผลต่อการเพาะปลูก ได้แก่ สภาพดินที่เหมาะสมกับพันธุ์มันสำปะหลังแต่ละชนิด ผลผลิตและปริมาณแป้งที่ได้จากมันสำปะหลังพันธุ์ต่าง ๆ โดยได้ดำเนินการแลกเปลี่ยนองค์ความรู้กับนักวิจัยของมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ในการทดสอบพันธุ์ KU81 ในพื้นที่แปลงทดสอบของกรมส่งเสริมการเกษตรในพื้นที่บางศูนย์ที่มีความเหมาะสมกับพันธุ์ดังกล่าว รวมถึงความนิยมของเกษตรกร ซึ่งกรมส่งเสริมการเกษตร โดยกองขยายพันธุ์พืช เตรียมพร้อมดำเนินการโดยขยายพันธุ์ด้วยวิธีเร่งรัด X 20 และวิธีเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ (Tissue Culture) เพื่อขยายพันธุ์ที่ดีสู่พื้นที่อย่างน้อย 100,000 ไร่ในปีแรก นอกจากนี้ ยังวางแผนขับเคลื่อนการตรวจรับรองพันธุ์มันสำปะหลังสะอาดทั่วประเทศอีกด้วย