อ.ส.ค. เผยความก้าวหน้าโครงการการศึกษารูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการจัดการของเสียในฟาร์มโคนมฯ หนุนโมเดลใหม่ของการเลี้ยงโคนมในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ในประเทศ ภายใต้ BCG model พร้อมเตรียมนำไปขยายผล ร่วมกับสหกรณ์โคนม และเครือข่ายวิชาการจากมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างประโยชน์อย่างกว้างขวาง
นาย สมพร ศรีเมือง ผู้อำนวยการองค์การส่งเสริมกิจการโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.) เปิดเผยถึงการจัดโครงการบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ(บพข.) สังกัดสำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.)ได้ให้ทุนอุดหนุนการวิจัยโครงการการศึกษารูปแบบเศรษฐกิจหมุนเวียนเพื่อการจัดการของเสียในฟาร์มโคนมและการพัฒนาที่ยั่งยืนแก่ อ.ส.ค. ปี 2564 ที่ผ่านมานั้น
ขณะนี้โครงการดังกล่าว มีความก้าวหน้าเป็นอย่างมากโดย อ.ส.ค. เตรียมนำผลการศึกษาไปขยายผลร่วมกับสหกรณ์โคนม และเครือข่ายวิชาการจากมหาวิทยาลัยเพื่อสร้างประโยชน์อย่างกว้างขวางขึ้น
ทั้งนี้ผลจากการศึกษาทำให้ได้รูปแบบการเลี้ยงโคนมที่ช่วยในการสร้างมูลค่าเพิ่มจากของเสียในฟาร์มโคนม เช่น มูลโค และน้ำทิ้ง ให้กลายเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ซึ่งเป็นโมเดลใหม่ของการเลี้ยงโคนมในระบบเศรษฐกิจหมุนเวียน หรือ The circular dairy farming model ที่ช่วยให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้น ลดปัญหาด้านมลภาวะจากของเสียในฟาร์ม ทำให้ชุมชนข้างเคียงได้รับประโยชน์จากการใช้ปุ๋ยคอกทดแทนปุ๋ยเคมีและยังมีก๊าซชีวภาพจากมูลโคสามารถนำไปหุงต้มทดแทนก๊าซหุงต้มที่มีราคาขยับตัวสูงขึ้นในปัจจุบัน โดยจะได้จัดทำเป็นศูนย์เรียนรู้ด้านเศรษฐกิจหมุนในฟาร์มโคนมให้เป็นที่ศึกษาดูงานขึ้น 1 แห่งในอำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี
นายสมพร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับในปีงบประมาณ2565 บพข. ภายใต้แผนงานกลุ่มเศรษฐกิจหมุนเวียนยังได้จัดสรรงบประมาณร่วมทุนวิจัยกับอ.ส.ค.เพื่อลงทุนพัฒนาห่วงโซ่คุณค่าการใช้ประโยชน์จากมูลโคและสร้างมูลค่าเพิ่มให้เป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ เช่นกระถางปลูกต้นไม้ที่ย่อยสลายง่าย อิฐบล็อกประสานเพื่อการตกแต่ง
โดยคาดหวังให้เกิดผลลัพธ์ 4 ด้าน คือ 1. ด้านโมเดลแบรนด์สินค้า และรูปแบบผลิตภัณฑ์ต้นแบบ 2. ด้านต้นแบบโรงงาน สายการผลิต และเครื่องจักรรองรับการผลิต ผลิตภัณฑ์กลุ่มอิฐและกระถาง 3. ผลประเมินความคุ้มค่าในการลงทุนนวัตกรรมระบบสร้างมูลค่าจากมูลโค และ4.คู่มือส่งเสริมการลงทุนระบบผลิตอิฐและกระถางจากมูลโคจากฟาร์มโคนมเศรษฐกิจหมุนเวียน
พร้อมคาดการณ์ว่า ผลสำเร็จของโครงการดังกล่าว จะสร้างชุดความรู้และกลไกระบบงานจัดการความรู้ให้ อ.ส.ค. ที่สามารถวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีบนความเชี่ยวชาญขององค์กร ส่งเสริม ถ่ายทอด และสนับสนุนความสำเร็จ รวมทั้งการร่วมพัฒนาทุนมนุษย์ที่มีทักษะนวัตกรรมฐานเกษตรร่วมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัย อันเป็นรากฐานสำคัญสำหรับความสามารถในการพึ่งพาตนเองให้อาชีพการเลี้ยงโคนมเติบโตอย่างยั่งยืนในอนาคตต่อไป