เพจสำนักงานที่ปรึกษาการเกษตรต่างประเทศของไทย ประจำกรุงโรม ระบุว่า กรมการข้าวแห่งชาติอิตาลี (Ente Nazionale Risi) เปิดเผยว่า ปี 2567 เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในอิตาลีจะค่อยๆ กลับมาปลูกข้าวอีกครั้ง เห็นได้จากการฟื้นตัวของพื้นที่ปลูกข้าวเพิ่มขึ้นอยู่ที่ประมาณ 5,000 เฮกตาร์ (เพิ่มขึ้น 3% เมื่อเทียบกับปี 2566) โดยมีการประมาณการพื้นที่ปลูกข้าวทั้งหมดที่ 218,000 เฮกตาร์ แต่ก็ยังถือเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนักหากเทียบกับปี 2553 ที่มีพื้นที่ปลูกข้าวทั้งสิ้น 250,000 เฮกตาร์ ซึ่งถือเป็นปริมาณพื้นที่ที่ตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมข้าวในประเทศได้อย่างสูงสุด
ในช่วงต้นปี 2567 ราคาของข้าวพันธุ์ต่างๆ ในอิตาลี หดตัวลงประมาณ 10% และปี 2566 ราคาหดตัวลงมากกว่า 30% ในขณะที่การนำเข้าข้าวยังคงถูกกดดันจากความตึงเครียดด้านการขนส่ง การปิดกั้นเส้นทางเดินเรือผ่านคลองสุเอซ และต้นทุนการขนส่งที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ราคาข้าวนำเข้าอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม เกษตรกรชาวอิตาลีได้มีการลงทุนปลูกข้าวพันธุ์ชนิดเม็ดยาว A (long A) เพิ่มขึ้นถึง 11% และพันธุ์ชนิดเม็ดกลม (round) เพิ่มขึ้น 6% สำหรับข้าวพันธุ์ชนิดเม็ดยาว B (long ลดลงประมาณ 18% ซึ่งถือเป็นพันธุ์ข้าวที่มีการแข่งขันโดยตรงกับข้าวที่นำเข้าจากเอเชีย
ปี 2566 อิตาลีนำเข้าข้าวจากทั่วโลก มูลค่ารวม 303.29 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ลดง 14.21%) โดยไทยถือเป็นแหล่งนำเข้าสำคัญของอิตาลีอันดับ 3 มีมูลค่า 23.62 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 16.01% (รองจาก ปากีสถาน มูลค่า 113.63 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 24.69% และอินเดีย มูลค่า 40.76 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 88.51%) โดยนำเข้าข้าวหอมมะลิและข้าวขาวมากที่สุด มูลค่า 20.22 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 38.64%
ข้าวหอมมะลิไทยยังคงเป็นที่ชื่นชอบของผู้บริโภคท้องถิ่น โดยเฉพาะชาวเอเชียและชาวต่างชาติซึ่งพำนักอาศัยอยู่ในอิตาลี ด้วยเม็ดข้าวที่มีความนุ่ม หอม อร่อย แต่ราคาค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับข้าวหอมและข้าวชนิดอื่นจากประเทศเพื่อนบ้านของไทย อย่างไรก็ตาม ตั้งแต่เดือนมกราคม 2565 เป็นต้นมา สหภาพยุโรประงับสิทธิ GSP จากทั้ง 2 ประเทศ เป็นเวลา 3 ปี ทำให้ในปี 2566 อิตาลีนำเข้าข้าวจากเมียนมา และเวียดนาม ลดลง (-76.74% และ -76.54% ตามลำดับ) และไทยยังได้อานิสงส์จากการงดส่งออกข้าวขาวของอินเดีย (ไม่รวมข้าวบาสมาติ) ทำให้ปี 2566 ข้าวไทยขยายตัวในตลาดอิตาลีอย่างมาก และคาดว่ายังคงขยายตัวต่อเนื่องในปี 2567