สวพส. เผยเกษตรกรพื้นที่สูงเฮ ปลดหนี้ เพิ่มรายได้เกือบ 3 เท่า แค่ปรับระบบเกษตร-ลดการเผา

ปัจจุบันประชาชนบนพื้นที่สูงส่วนใหญ่ยังคงยากจนและเข้าไม่ถึงบริการของรัฐ จากข้อมูล TPMAP พ.ศ. 2565 พบว่า มี “คนจน” บนพื้นที่สูงมากถึง 261,043 คน มีหนี้สินเฉลี่ย 157,144 บาทต่อครัวเรือน ส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักและเก็บหาของป่าเพื่อสร้างรายได้เสริม ซึ่งการทำเกษตรตามวิถีและความเชื่อดั้งเดิมนำไปสู่การบุกรุกคุกคามพื้นที่ป่ามากสุดในพื้นที่ภาคเหนือ สูงถึง 651 แห่ง จากทั้งหมด 1,384 แห่งทั่วประเทศ (GISDA, 2564)   

ภาพสวพส1

นางสาวเพชรดา อยู่สุข รองผู้อำนวยการด้านการพัฒนา สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (องค์การมหาชน) หรือ สวพส. กล่าวว่า แนวทางการแก้ไขปัญหาความยากจนและการเผาบนพื้นที่สูง ในหลวงรัชกาลที่ 9 ทรงพิสูจน์ให้ประจักษ์แล้วจากการดำเนินงานของมูลนิธิโครงการหลวง โดยทำให้เกิดความชัดเจนว่าพื้นที่ไหนเป็นป่า พื้นที่ไหนเป็นพื้นที่ทำกิน เพื่อไม่ให้สองส่วนนี้รุกล้ำซึ่งกันและกัน จากนั้นจึงใช้ความรู้เพื่อปรับเปลี่ยนวิถีในการทำการเกษตรที่เหมาะสมกับสภาพภูมิสังคม ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากการปลูกพืชเสพติดและส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เป็นการปลูกพืชทางเลือก ควบคู่ไปกับการดูแลรักษาทรัพยากรธรรมชาติโดยรอบชุมชน จนปัจจุบันถือได้ว่า ในพื้นที่โครงการหลวงปลอดการเผา 100%

ภาพสวพส6

สวพส. ได้นำแนวทางการดำเนินของโครงการหลวงมาปรับใช้ในพื้นที่สูงอื่นๆ ให้ชาวบ้านมีรายได้จากการปลูกพืชทางเลือก โดยใช้พื้นที่น้อย แต่มีรายได้ตอบแทนสูง และไม่ต้องใช้ไฟในการทำงานแทนโดยมีวิธีการทำงาน คือ การวิเคราะห์เป็นรายหมู่บ้านเป็นรายคน เลือกพืชเลือกวิธีการประกอบอาชีพที่ตรงตามกับภูมิสังคม เหมาะสมกับพื้นที่มีมาตรฐาน มีตลาดรองรับ เพื่อที่จะบรรลุเป้าหมายที่วางไว้ จำเป็นต้องอาศัยโครงสร้างพื้นฐานที่มาสนับสนุนอย่างเช่น แหล่งน้ำ ไฟฟ้า ถนน ซึ่งได้รับความร่วมมือจากหลายๆ หน่วยงานมากกว่า 30 กรมจาก 7 กระทรวง เข้ามาช่วยในการขับเคลื่อนการพัฒนาร่วมกัน

ภาพสวพส4

จากการดำเนินงานเพื่อแก้ปัญหาความยากจน โดยการปรับระบบเกษตรที่เน้นกระบวนการมีส่วนร่วมกับชุมชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อสร้างแรงจูงใจให้เกษตรกรหันมาปลูกพืชทางเลือกและไม่เผาวัสดุการเกษตร สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวงทั้ง 44 แห่ง พบว่า เกษตรกรกลุ่มสำรวจ จำนวน 266 คน มีรายได้เฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากกว่าสองเท่า (153%) จากเดิมที่มีค่าเฉลี่ยรายได้ก่อนปรับระบบเกษตรกร 68,526 บาท/ครัวเรือน/ปี ซึ่งเป็นรายได้ที่ต่ำกว่าเส้นความยากจนของประชาชนบนพื้นที่สูงจากการสำรวจโดย สวพส. 120,483 บาท/ครัวเรือน/ปี เมื่อปรับระบบเกษตรแล้วเกษตรกรมีรายได้จากการจำหน่ายผลิตผล 173,332 บาท/ครัวเรือน/ปี ทำให้มีเงินออมเพิ่มขึ้น ภาระหนี้สินภาคเกษตรลดลง

ภาพสวพส2

โดยในปี 2566 สวพส. เกษตรกรในพื้นที่โครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง สามารถจำหน่ายผลผลิต เช่น พืชผัก ไม้ผล ชากาแฟ พืชไร่ พืชท้องถิ่น ไม้ดอก จำหน่ายผ่านตลาดท้องถิ่น ตลาดข้อตกลง ตลาดโครงการหลวง ตลาดออนไลน์ และตลาดอุทยานหลวงราชพฤกษ์ สร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรรวมมูลค่า 476.59 ล้านบาท คิดเป็นรายได้เงินสดสุทธิทางการเกษตรของเกษตรกรเฉลี่ยต่อครัวเรือน 80,271 บาท/ครัวเรือน/ปี ทั้งนี้ เป็นการส่งเสริมแก่กลุ่มเกษตรกรที่ยากจนหรือด้อยโอกาสเป็นพิเศษตาม TPMAP จำนวน 1,585 ราย สร้างรายได้ 9.03 ล้านบาท

ภาพสวพส7

จากการทำงานที่ผ่านมาแบบพุ่งเป้ามีพื้นที่ชัดเจน ประชาชนเป้าหมายชัดเจน สวพส.ใช้วิธีการทำงานที่เป็นการพัฒนาบนพื้นฐานของการใช้องค์ความรู้และนวัตกรรมจากงานวิจัยบวกกับความร่วมมือของทุกหน่วยงาน ทำให้วันนี้มีชุมชนที่ประสบความสำเร็จ ชาวบ้านมีรายได้ มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น แต่สิ่งที่มากกว่าและเป็นความต้องการของเกษตรกรทุกคน คือ สิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น ปัจจุบันถ้าชาวบ้านอยากมีรายได้ 1 แสนบาทต่อปี แค่หันมาปลูกพืชทางเลือกพืชเศรษฐกิจที่สร้างผลตอบแทนสูงใช้พื้นที่แค่ 3-5 ไร่ ถ้าเปรียบเทียบกับสมัยก่อนอาจจะต้องใช้พื้นที่ 50-100 ไร่ ส่วนพื้นที่ที่เหลือปัจจุบันชาวบ้านก็สามารถปรับมาเป็นพื้นที่สำหรับปลูกไม้ผลไม้ยืนต้นให้เป็นพื้นที่สีเขียว หรือหลายชุมชนเองก็คืนพื้นที่บางส่วนเพื่อฟื้นฟูเป็นป่า

ภาพสวพส5

“นอกจากนี้ยังช่วยลดการเผาในพื้นที่เกษตรได้อย่างชัดเจน โดยในปี 2564-2565 มีจุดความร้อน (Hotspot) ในพื้นที่ดำเนินงานโครงการพัฒนาพื้นที่สูงแบบโครงการหลวง 44 พื้นที่ ลดลงเหลือ 703 และ 435 ตามลำดับ จากปี 2563 ที่มีจุดความร้อนมากถึง 1,477 จุด ควบคู่กับการอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร เช่น การสร้างฝายชะลอน้ำ 272 ตัว แนวกันไฟ 98 ชุมชน ระยะทาง 1,200 กิโลเมตร การผลิตปุ๋ยหมักลดการเผา 1,073 ตัน ป้องกันการบุกรุกป่าและอนุรักษ์ฟื้นฟูป่าต้นน้ำ 1.47 ล้านไร่ ใน 463 ชุมชน และปลูกป่าเพื่อเพิ่มพื้นที่สีเขียว 22,951 ไร่ ทำให้ประชาชนบนพื้นที่สูงสามารถเข้าถึงอาหารที่เพียงพอปลอดภัยที่ได้รับรองมาตรฐาน GAP และ Organic สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน” นางสาวเพชรดา อยู่สุข กล่าวทิ้งท้าย   

ภาพสวพส3
ภาพสวพส10 1
ภาพสวพส9
ภาพสวพส8