นี่คือ…ข้อความที่ถูกถ่ายทอดผ่านไลน์กลุ่มหนึ่ง ที่เต็มไปด้วยผู้คนหลากหลายอาชีพ ทั้งนักการเมืองข้าราชการ เกษตรกร นักธุรกิจเกษตรมากหน้าหลายตา
มีเรื่องอยากจะมาเล่าให้อ่านกันครับ อาจจะยาวหน่อย แต่จะเล่าสั้นๆครับ
หลายคนคงเคยได้ยิน Green lane GAP+ GMP+ ซึ่งคำนี้เป็นคำใหม่ที่เพิ่งจะได้ยินกันมา จากการประชุมที่ สวพ.6 เรื่องของการเตรียมการรับมือเรื่องของทุเรียน ที่มีแนวโนวว่าจะเกิดปัญหา น่าจะประมาณเดือน พฤศจิกายน2564 ในการประชุมครั้งนั้น มีหน่วยงานต่างๆ ทั้งรัฐ เอกชน สมาคมต่างๆ มากมาย
ต่อมาเรื่องนี้ก็ค่อยๆเข้มข้นในเรื่องของเนื้อหาสาระ มีการประชุมบ่อยมาก และได้มีการตกลงกันว่า จะเริ่มการทำงานกัน โดยมีการเตรียมการของภาครัฐ เช่น การอบรมเกี่ยวกับมาตรการของ GMP+ และภาคเอกชน เช่น สมาคมทุเรียนไทย หนึ่งในนั้นคือ น้องๆทีมงานสมาคมฯ อดหลับอดนอนเพื่อหาข้อมูลเรื่อง GAP ของแต่ละประเทศ เพื่อนำมาปรับใช้กับ GAP+ ของเรา และยังมีการคิดเรื่องของการคิดค้นสารที่จะนำมาฆ่าเชื้อโควิดทั้งเป็นและเชื้อตาย โดยมีสมาคมผู้ผลิตทุเรียนไทย สมาพันธ์ชาวสวนภาคตะวันออกและสมาคมทุเรียนไทย ร่วมกันลงขันเพื่อนำเงินนั้นไปทำการทดลอง โดยมีมหาวิทยาลัยแม่โจ้(ในช่วงเริ่มต้น)
และต่อมามีการเข้าร่วมประชุมหลายครั้งเพื่อดันเรื่องนี้ในภาครัฐได้เห็นและลงมาช่วยเหลือ ซึ่งในการประชุมนั้น มีท่าน ส.ส.จากจันทบุรี ไปร่วมด้วย เนื้อหาการประชุมมีเยอะมาก แต่จะขอกล่าวเพียงว่า ตอนนั้น ไม่มีการช่วยเหลือใดๆเลยจากภาครัฐ ยืนยันได้จากจดหมายที่ส่งไปหลายต่อหลายฉบับ และแม้แต่การเดินทางลงพื้นที่จันทบุรี ก็ยังไม่มีการสนับสนุนใดๆเลย
นอกจากให้หน่วยงานในพื้นที่ทั้งรัฐและเอกชนเป็นคนขับเคลื่อน อีกทั้งยังมีคำพูดที่ว่า เรื่องเหล่านี้ไม่ต้องทำหรอก เสียเวลาเพราะว่าทำไม่ได้ มันยากเกินไป เอางานมาให้ ทำให้พวกผมเสียเวลา คำพูดนี้ ยังดังก้องอยู่ในหัวผมตลอดมา
อยู่มาวันหนึ่ง หลังจากผ่านมรสุมต่าๆมากมาย มีหน่วยงานของรัฐ มาพูดถึงช่วงเลาที่ผ่านมาว่าทำงานอย่างหนัก อย่างนั้น อย่างนี้ โดยในการขับเคลื่อนนั้น มีทั้งสมาคมฯ กระทรวงการต่างประเทศ กงศุลใหญ่คุนหมิง ทูตเกษตร และอีกมากมาย นี่คือหน่วยงานที่ลงมือทำงานอย่างหนัก แต่กลับไม่เห็นว่า มีการให้เครดิต หรือกล่าวถึง หน่วยงานเหล่านี้เลย แปลกแต่จริงนะครับ การตีกิน มีให้เห็นในสังคมไทย แต่ครั้งนี้ยากที่จะอยู่เฉยๆครับ จึงขอใช้พื้นที่นี้ เพื่อเล่าถึง ที่มาที่ไป ของเรื่องบางเรื่องครับ
เรื่องนี้ที่เล่าอาจจะกระทบบางหน่วยงาน ก็ต้องขออภัยด้วย เพราะหากวันนี้ ผมอยู่เฉยๆ และปล่อยผ่านในเรื่องที่เราสามารถออกมานำเสนอความจริงได้ สังคมไทยเราคงจะแย่ลงๆ
เรื่องบางเรื่อง ที่พวกคุณทำดีแล้ว โปรดทำต่อไป เพื่อเกษตรกรไทย แต่หากยังทำแต่นี้ นำเสนอเรื่องราวที่มีความจริงเพียงไม่กี่เปอร์เซนต์แล้วที่เหลือ ทำดีเข้าตัว ผมก็ต้องขอใช้พื้นที่นี้เพื่อออกมาอธิบายเรื่องราวให้ สาธารณะชนได้ทราบเรื่องราวที่แท้จริง
การทำงานควรมีการกล่าวถึงผู้ที่เริ่มต้น ให้เครดิตคนทำงาน คนที่เขาทำงานให้ จะได้มีกำลังใจทำงานเพื่อช่วยกัน ทั้งเรื่องของการสนับสนุนข้อมูล หรือ ส่งเรื่องราว เพื่อช่วยป้องกัน และแก้ปัญหา มิใช่เพียงตีกิน เป็นผลงานตัวเอง เพียงอย่างเดียว
ขอบคุณที่รับฟังครับ
ปล. ผมขอยืนยันว่า ผมไม่มีเจตนากล่าวโทษใคร แต่ต้องการเห็นการเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้นเท่านั้นครับ
ขอบคุณครับ…”
+++CR. เพจ The Durian+++
อ่านจนจบแล้วคิดอะไร…
Drama ทุเรียนครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก วิวาทะเกิดขึ้นหลายต่อหลายครั้ง ที่เกษตรกรเจ็บปวดที่สุดอย่างหนึ่งคือระดับผู้บริหารบอกเกษตรกรว่าไปทำให้งานเขามากขึ้น คำพูดแบบนี้ไม่ควรจะเกิดขึ้น บั่นทอนกำลังใจคนทำงานและคนตั้งใจทำงาน
รัฐมองประเด็นนี้อย่างไรน่าสนใจ ในเรื่องการตีกินหรือโชว์ผลงานโชว์ความสำเร็จในทางการเมืองเป็นเรื่องปกตินะต่างพรรคต่างชิงจังหวะข่าว แต่การให้เกียรติหรือให้ใจคนทำงานเป็นเรื่องที่ต้องทำเช่นกัน
หนึ่งกระทรวงการต่างประเทศ อย่างกรณีของรองนายกรัฐมนตรี ดอน ปรมัติวินัย ที่นำทีมไปเจรจาที่จีนในนามรัฐบาล ก็สำคัญ
ทูตเกษตรเองก็เช่นกันที่ทำงานอย่างหนัก ก็สมควรกล่าวถึง หลายต่อหลายหน่วยงานแม้จะขับเคลื่อนในนามฟรุ๊ตบอร์ดก็ตาม
ที่อยากพูดถึงคือ สมาคมน้องใหม่ อย่าง “สมาคมทุเรียนไทย” สมาคมที่เต็มไปด้วยชาวสวนรุ่นใหม่ รัฐอาจจะไม่ชอบ ถ้าพูดกันตามตรง ดีไม่ดีถูกมองเป็นสมาคมหัวแข็ง แต่ประเทศเราต้องการสมาคมแบบนี้เกษตรกรรุ่นใหม่ๆต้องการแบบนี้ ผู้บริโภคก็ต้องการสมาคมแบบนี้ หลายอย่างในปีนี้ ริเริ่มจากสมาคมทุเรียนไทย รัฐเองก็รู้ เขาอาจจะเสียความรู้สึก สิ่งที่เขาริเริ่ม สิ่งที่เขาทำ ระดับผู้บริหารบอกว่าเสียเวลาเพิ่มภาระให้รัฐ แต่ทางจีนเอาด้วย สุดท้ายกลายเป็นผลงานของคนอื่น
วันนี้…รัฐก็ต้องให้สมาคมแบบนี้ขับเคลื่อนงาน เปิดใจให้กว้างครับ โลกยุคใหม่ ค้าขายต่างแดน จับจ่ายใช้เงินออนไลน์ เกษตรสร้างคนแทบกระอักเลือดเพื่อให้เป็น “สมาร์ทฟาร์มเมอร์” แต่สมาชิกสมาคมเขาเป็น “สมาร์ทฟาร์มเมอร์”ด้วยตัวเขาเอง
รัฐเองก็ไม่ได้สนับสนุนอะไรเขาไม่ใช่หรือ? แม้ล่าสุดกรรมการในฟรุ๊ตบอร์ดก็ไร้ชื่อคนสมาคมทุเรียนไทย
ประเด็นคือรัฐมองสมาคมทุเรียนไทยอย่างไร ควบคุมไม่ได้ สมาคมไร้ฝีมือ บารมีไม่มากพอ หรือ ไม่ได้มีทิศทางเดียวกัน ประเด็นนี้ต่างหากที่น่าสนใจ
ถอดรหัสตัวนี้ได้ หรือพูดคุยปรับความเข้าใจหรือจูนกันได้ เป็นประโยชน์ต่อชาติบ้านเมือง
…จิบน้ำชากันสักรอบดีกว่าครับ