เกษตรกรไร่อ้อยจากสหกรณ์เครื่องจักรกลเกษตรโป๋เซิ่งในอำเภออู่เซวียน เมืองไหลปิน เขตปกครองตนเองกว่างซีจ้วงทางตอนใต้ของจีน ใช้อุปกรณ์ไฮเทคหลากหลายในการทำเกษตร หนึ่งในนั้นคือรถหว่านเมล็ดหรือปักชำต้นพืชระบบอัตโนมัติ ที่ทำทุกกระบวนการได้แบบครบวงจรในเครื่องเดียว ทั้งปรับพื้นที่ ปักชำโดยใช้พิกัดนำทางดาวเทียม ใส่ปุ๋ย กลบด้วยดิน และคลุมด้วยฟิล์ม ซึ่งทำงานได้แม่นยำกว่ามนุษย์และช่วยเพิ่มผลผลิตได้มาก
ผู้ปลูกอ้อยรายหนึ่งของสหกรณ์ฯ ให้ข้อมูลว่าเมื่อก่อนตนใช้เวลาหนึ่งสัปดาห์ในการเพาะปลูกอ้อยบนพื้นที่ 20 หมู่ (ราว 8.3 ไร่) แต่ตอนนี้เครื่องจักรกลช่วยย่นเวลาจนเหลือเพียงแค่วันเดียวก็เสร็จ แถมต้นทุนยังลดลงจากหมู่ละ 300 หยวน (ราว 1,500 บาท) เหลือแค่หมู่ละ 180 หยวน (ราว 900 บาท)
กว่างซีมีสภาพอากาศกึ่งเขตร้อน มีดินที่เหมาะกับการเพาะปลูกอ้อย ผลผลิตอ้อยจากที่นี่จึงครองสัดส่วนมากกว่าร้อยละ 60 ของผลผลิตรวมในจีนมานานหลายปี จึงเป็นฐานผลิตน้ำตาลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ โดยพื้นที่ปลูกอ้อยหลักๆ อยู่ในเมืองไหลปินและเมืองฉงจั่ว
ปี 1993 กลุ่มน้ำตาลมิตรผลของไทยได้ร่วมทุนกับโรงงานน้ำตาลสังกัดภาครัฐจำนวน 5 แห่งในเมืองฉงจั่ว เพื่อก่อตั้งบริษัทอีสต์ เอเชีย ชูการ์ กรุ๊ป (East Asia Sugar Group) หรือกลุ่มน้ำตาลมิตรผลขึ้นในจีน นับเป็นหนึ่งในบริษัทที่ต่างชาติลงทุนขนาดใหญ่มากที่สุดและในช่วงเริ่มแรกสุดของอุตสาหกรรมน้ำตาลของจีน โดยเมื่อเดือนกันยายน ปี 2017 มีการจัดตั้งบริษัทฯ ขึ้นในนิคมสวนอุตสาหกรรมจีน-ไทย (ฉงจั่ว) ด้วยมูลค่าการลงทุน 2.74 พันล้านหยวน (ราว 1.39 หมื่นล้านบาท) เพื่อสร้างโรงงานผลิตน้ำตาลขนาด 650 ไร่ ที่ประหยัดพลังงานและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
เกษตรกรจากสหกรณ์ฯ ให้ข้อมูลว่าเมล็ดอ้อยที่พวกเขาปลูกเป็นพันธุ์อ้อยชั้นเยี่ยมชื่อว่า “กุยถัง หมายเลข 44” ซึ่งผ่านการคัดสรรและเพาะพันธุ์ในโครงการความร่วมมือกับสถาบันวิทยาศาสตร์เกษตรกว่างซี หลังเก็บเกี่ยวแล้ว ต้นอ่อนเหล่านี้จะถูกส่งไปยังโรงงานแปรรูปเพื่อเข้าสู่กระบวนการล้างสารพิษ ลำต้น (Stem) ของอ้อยที่ได้จึงมีความต้านทานโรคดีกว่า และมีชีวิตได้ยาวนานกว่าลำต้นของเมล็ดธรรมดาทั่วไป ทำให้ผลผลิตอ้อยสูงถึงราว 19 ตันต่อไร่ ขณะที่ชาวไร่อ้อยอีกรายซึ่งปลูกอ้อยบนที่ดิน 20 หมู่ (ราว 8.3 ไร่) กล่าวว่าตนมีรายได้ 60,000 กว่าหยวน (ราว 3 แสนบาท) ในปี 2023 ที่ผ่านมา
ที่มาข่าวและรูปภาพจาก China Xinhua News