นายประพันธุ์ คูณมี สมาชิกวุฒิสภา อภิปรายในการประชุมวุฒิสภา เพื่ออภิปรายทั่วไปรัฐบาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 153 ถึงนโยบายแปลงที่ดิน ส.ป.ก.4-01 เป็นโฉนด ของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ว่า นโยบายดังกล่าวไม่สามารถทำได้ เพราะจะต้องมีการแก้ไขพระราชบัญญัติปฏิรูปที่ดินก่อน เพื่อยกเลิกความเป็นที่ดินรัฐ มิเช่นนั้น จะเป็นการหลอกลวงประชาชนให้เข้าใจผิด ทำให้เกิดการลงทุนบุกรุกป่า และเป็นนอมินีให้กลุ่มทุน ซึ่งนโยบายดังกล่าว จะเกิดความเสียหายร้ายแรงต่อประเทศชาติ ผิดเจตนารมณ์การปฏิรูปที่ดิน เป็นการนำที่ดินของชาติ 40 กว่าล้านไร่ ไปหาเสียง แจกให้กับผู้มีอิทธิพล กลุ่มทุน และกลุ่มการเมือง ดังนั้น ตนเองจึงไม่เห็นด้วย และเรียกร้องให้รัฐบาลทบทวนระเบียบประกาศที่ออกมา เพราะหากยังฝืนนำที่ดิน ส.ป.ก.4-01 กว่าล้านไร่ ไปแปลงเป็นโฉนด จะทำให้เกิดความเสียหายมูลค่านับไม่ถ้วน และหากนโยบายดังกล่าว มีความจริงใจกับการปฏิรูปที่ดินจริง ก็จะต้องจัดสรรให้กับราษฎรเท่านั้น และยังเป็นการหลอกลวงประชาชน เพราะที่ดิน ส.ป.ก.4-01 ไม่สามารถนำไปเป็นหลักทรัพย์กับสถาบันการเงินได้ เพราะที่ดินดังกล่าว ไม่สามารถขายทอดตลาดได้ จึงขอให้รัฐบาล และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ทบทวนในเรื่องดังกล่าว
นายประพันธุ์ ยังระบุอีกว่า เดิมในการจัดสรรที่ดินให้กับเกษตรกร จะมีคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินระดับชาติ เมื่อมีพระราชกฤษฎีประกาศปฏิรูปที่ดินในเขตจังหวัดใด ก็จะมีคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด ที่มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน ไปพิจารณาร่วมกัน แต่ในยุคร้อยเอกธรรมนัส ได้แก้หลักเกณฑ์ดังกล่าว โดยออกประกาศเมื่อ 8 ธันวาคม 2566 หรือ ระเบียบคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรมว่าด้วยหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการคัดเลือกและจัดที่ดินให้แก่เกษตรกร การโอนหรือตกทอดทางมรดกสิทธิการเช่าหรือเช่าซื้อ และการจัดการทรัพย์สินและหนี้สินของเกษตรกรผู้ได้รับที่ดิน (ฉบับที่ 2) เพื่อให้การจัดสรรที่ดินแก่เกษตรกร ไม่ต้องผ่านคณะกรรมการปฏิรูปที่ดินจังหวัด และให้อำนาจ ส.ป.ก.จังหวัดแต่เพียงผู้เดียว ที่สามารถจัดสรรให้ใครก็ได้ โดยไม่ต้องมีคณะกรรมการฯ มาพิจารณา จึงทำให้เกิดปัญหาหมุด ส.ป.ก.ที่เขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา รุกพื้นที่เขตอุทยานแห่งชาติ จนชาวบ้าน วิพากษ์วิจารณ์ว่า ระเบียบ คำสั่งเหล่านี้ เป็นการเปิดประตูให้ทุจริตชน ซึ่งผู้ที่จะได้รับจัดสรรที่ดินไปนั้น ก็เป็นพนักงานประจำบริษัทอสังหาริมทรัพย์ มีชื่อบริษัท นายทุน และรายละเอียดจ้างงานปรากฏชัดเจน ดังนั้น การให้อำนาจเพียง ส.ป.ก.จังหวัดแต่เพียงผู้เดียว และพื้นที่เขาใหญ่ที่จัดสรรที่ดิน ไม่มีเกษตรกรได้รับการจัดสรรที่ดิน ส.ป.ก.แม้แต่รายเดียว จากปัญหาประกาศเมื่อ 8 ธันวาคม 2566
นายประพันธุ์ ยังระบุว่า ยังมีการพบว่า มีนอมินีไปถือครองที่ดิน ส.ป.ก. กว่า 700 ไร่ที่สระบุรี และโยงถึงที่ดิน ส.ป.ก.ภูเก็ต ซึ่งจากการตรวจสอบหลักฐาน พบว่า มีเอกชนไปถือที่ดิน 700 ไร่ และใช้นอมินีเป็นพนักงานลูกจ้างบริษัทเอกชนบริษัทเดียวกันทั้งหมด อ้างตัวเป็นเกษตรกร โดยปัญหาที่เกิดขึ้นนี้ ไม่ได้มีเฉพาะรายเดียว แต่มีทั้งที่จังหวัดภูเก็ต, อุทยานแห่งชาติทับลาน จังหวัดปราจีนบุรี และที่อื่น ๆ ทั่วประเทศ ที่กลุ่มทุนเข้าไปถือครอง แต่ยังไม่ถูกเปิดเผย