นายรพีทัศน์ อุ่นจิตตพันธ์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ด้วยความตกลงหุ้นส่วนเศรษฐกิจญี่ปุ่น-ไทย (Japan -Thailand Economic Partnership Agreement) หรือที่รู้จักกันในชื่อ JTEPA ให้สิทธิพิเศษในการยกเว้นภาษีนำเข้ากล้วยจากประเทศไทย เป็นจำนวน 8,000 ตัน กรมส่งเสริมการเกษตรเล็งเห็นโอกาสนี้ จึงสนับสนุนและส่งเสริมให้เกษตรกรเพาะปลูกกล้วยหอมทองทางการค้า โดยส่งเสริมตั้งแต่ต้นทางคือเริ่มต้นตั้งแต่ การเลือกใช้พันธุ์ดี การดูแลเพาะปลูก การดูแลผลผลิต ไปจนถึงการหาตลาดปลายทาง ซึ่งกล้วยหอมทองเป็นพืชที่ปลูกได้ทั่วทุกภาค ทุกฤดูในประเทศไทย ปลูกง่ายแต่ต้องการการดูแลเพื่อให้ได้ผลผลิตที่ตรงตามความต้องการของตลาด เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทอง และผู้ประกอบการจะต้องผลิตกล้วยหอมทองให้ได้ปริมาณและคุณภาพผลผลิตตรงตามที่ตลาดต้องการ การคัดเลือกพันธุ์จึงเป็นสิ่งสำคัญเพราะต้นพันธุ์ที่ดีจะส่งผลต่อคุณภาพของผลผลิตที่ดี
ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี เป็นหน่วยงานสนับสนุนของกรมส่งเสริมการเกษตร ทำหน้าที่ในการส่งเสริม การผลิตขยายพืชพันธุ์ดีให้แก่เกษตรกร และมีเทคโนโลยีการขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อกล้วยหอมทองสนับสนุนและส่งเสริมทั้งต้นพันธุ์และองค์ความรู้ให้แก่เกษตรกร ด้วยความพร้อมของเจ้าหน้าที่ที่มีองค์ความรู้ เชี่ยวชาญในด้านการขยายพันธุ์พืชด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ ประกอบกับมีห้องปฏิบัติการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อที่ทันสมัย ทำให้ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี สามารถขยายพันธุ์พืชได้ในปริมาณตามความต้องการ ภายในระยะเวลาที่รวดเร็วและได้ต้นพันธุ์ที่สมบูรณ์แข็งแรง ตรงตามสายพันธุ์ เพื่อส่งเสริมเกษตรกร และจำหน่ายให้กับเกษตรและผู้สนใจผ่านระเบียบกรมส่งเสริมการเกษตรว่าด้วยการใช้จ่ายเงินรายได้จากการดำเนินงานส่งเสริมการเกษตร พ.ศ. 2562 ในราคาที่เหมาะสม และมีการขยายผลสร้างเครือข่ายเกษตรกรโดยใช้ต้นพันธุ์กล้วยหอมทองพันธุ์ดีที่ได้จากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อสู่กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองสานน้ำโขง ตำบลบ้านโคก อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี
โดยที่ผ่านมานั้นทางกลุ่มจะใช้หน่อจากต้นแม่พันธุ์ที่มีอยู่ในแปลงมาปลูก พบปัญหาเรื่องอัตราการรอด และการติดเชื้อโรคของหน่อ อีกทั้งการขนย้ายหน่อลงปลูกก็ยากลำบาก จึงได้ร่วมกับศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี คัดเลือกต้นพันธุ์กล้วยหอมทองที่สมบูรณ์แข็งแรง และผลผลิตเป็นต้องการของท้องตลาด นำไปขยายพันธุ์ด้วยวิธีการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ จากห้องปฏิบัติการของศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี เพื่อให้ได้ต้นพันธุ์ตรงตามที่ต้องการ นำมาปลูกในแปลง โดยมีนักวิชาการส่งเสริมการเกษตรของศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี เป็นที่ปรึกษา ให้ความรู้ในการจัดการแปลงปลูกแก่สมาชิกกลุ่มฯ อย่างใกล้ชิด ซึ่งการใช้ต้นพันธุ์กล้วยหอมทองจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อนั้น พบว่าต้นพันธุ์มีความสมบูรณ์แข็งแรง ผลผลิตมีคุณภาพ มีปริมาณสม่ำเสมอ สะดวกต่อการบริหารจัดการผลผลิต เป็นที่พึงพอใจของตลาดและได้รับการยอมรับ ซึ่งผลผลิตมีน้ำหนักเฉลี่ย 18 – 25 กิโลกรัม/เครือ ส่งผลให้เกษตรกรผู้ปลูกกล้วยหอมทองมีรายได้เฉลี่ย 50,000 บาท/ไร่ /ต่อรอบการเก็บเกี่ยว
ปัจจุบัน กลุ่มวิสาหกิจชุมชนกล้วยหอมทองสานน้ำโขง ตำบลบ้านโคก อำเภอสร้างคอม จังหวัดอุดรธานี เป็นแหล่งผลิตกล้วยหอมทองอันดับต้นๆ ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยนำนโยบาย “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” เป็นแนวทางดำเนินการบริหารจัดการ ได้ผลผลิตกล้วยหอมทองคุณภาพ มีมาตรฐาน GAP และ GMP รับรอง ซึ่งทางกลุ่มมีการขยายพื้นที่ส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกกล้วยหอมทอง และรวบรวมรับซื้อผลผลิตจากสมาชิก และกลุ่มเครือข่าย มีสมาชิกรวมประมาณ 300 ราย พื้นที่เพาะปลูกประมาณ 600 ไร่ มีผลผลิตรวม 2,400 ตัน/ปี เพื่อนำมาเข้าโรงคัดแยกและบรรจุหีบห่อของกลุ่ม และจัดจำหน่ายให้กับตลาดในท้องถิ่น ร้านสะดวกซื้อ และมีนำส่งไปจำหน่ายในประเทศญี่ปุ่นประมาณ 1,000 ตัน/ปี คิดมูลค่าตันละ 22,000 บาท/ปี
รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า สำหรับแนวการจัดการต้นกล้วยหอมทองที่เสียหายจากเหตุพายุพัด ลำต้นล้ม ทางกลุ่มและกรมส่งเสริมการเกษตร มีแนวทางจะพัฒนาร่วมกัน พร้อมจะนำวิทยากร งานวิจัย นวัตกรรมและเทคโนโลยีที่ทันสมัยแปรรูปต้นกล้วยเป็นผลิตภัณฑ์เส้นใยกล้วย ผลิตเป็นรองเท้าผ้าใบ เสื้อผ้า สร้างมูลค่าเพิ่มเติมในอนาคตอีกช่องทางหนึ่ง และเกษตรกรรายใดสนใจสอบถามองค์ความรู้ หรือมีความประสงค์ขอซื้อต้นพันธุ์กล้วยหอมทองจากการเพาะเลี้ยงเนื้อเยื่อ สามารถติดต่อสอบถามได้ที่จุดบริการพืชพันธุ์ DOAE ศูนย์ขยายพันธุ์พืชที่ 10 จังหวัดอุดรธานี เลขที่ 165 หมู่ 4 ตำบลเมืองเพีย อำเภอกุดจับ จังหวัดอุดรธานี เบอร์โทร 042 219323 #พืชพันธุ์ดีต้องที่ศูนย์ขยายพันธุ์พืช กรมส่งเสริมการเกษตร