วันที่ 15 มีนาคม 2567 ดร.ไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ติดตามการปฏิบัติการฝนหลวงพื้นที่ภาคเหนือ ณ ห้องประชุมหน่วยปฏิบัติการฝนหลวงภาคเหนือ จ.เชียงใหม่ พร้อมเปิดเผยว่า ตามที่สถานการณ์ปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็กในพื้นที่ภาคเหนือยังอยู่ในระดับเริ่มส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีส้ม) ถึงระดับส่งผลกระทบต่อสุขภาพ (สีแดง) จึงได้สั่งการให้ นายสุพิศ พิทักษ์ธรรม อธิบดีกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ปฏิบัติการฝนหลวงเชิงรุกอย่างเร่งด่วนเพื่อบรรเทาปัญหาฝุ่น PM2.5 ในพื้นที่ภาคเหนือ ดำเนินการตามแผนเร็วกว่ากำหนด ปรับแผนการปฏิบัติภารกิจ ใช้เครื่องบินขนาดใหญ่ ชนิด CN จำนวน 2 ลำ เครื่องบินขนาดกลาง ชนิด CASA จำนวน 3 ลำ เครื่องบินชนิด Super King Air จำนวน 1 ลำ ในภารกิจดัดแปรสภาพอากาศบรรเทาปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก บรรเทาปัญหาไฟป่า และบรรเทาปัญหาภัยแล้ง
ดร.ไชยากล่าวว่า ตนในฐานะ รมช.ที่กำกับดูแล กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้วางแผนติดตามสภาพอากาศป้องกันและบรรเทาปัญหาภัยแล้งในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะจังหวัดเชียงใหม่ และเห็นได้ว่าปัจจุบันค่าดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) ของจังหวัดเชียงใหม่ที่พุ่งขึ้นอันดับ 1 ของโลก ส่งผลกระทบต่อประชาชนและผู้มาท่องเที่ยว ส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจในอนาคต ซึ่งวันนี้ตนจะขึ้นเครื่องบินร่วมสังเกตการณ์ การบินปฏิบัติการดัดแปรสภาพอากาศโดยเครื่องบินชนิด CN บรรจุน้ำ 1,500 ลิตร สเปรย์น้ำที่ระดับความสูง 9,500 ฟุต บินวนแบบก้นหอย รัศมีการบิน 5-7 NM หรือประมาณ 12.6 กิโลเมตร บริเวณ อ.ดอยสะเก็ด อ.พร้าว จ.เชียงใหม่ เพื่อช่วยบรรเทาค่าฝุ่นละอองในพื้นที่ จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นการใช้เทคนิคพิเศษที่เรียกว่า “เทคนิคลดอุณหภูมิในชั้นบรรยากาศผกผันด้วยการโปรยน้ำและโปรยน้ำแข็งแห้ง” เพื่อเจาะช่องบรรยากาศให้สามารถระบายฝุ่นละอองขึ้นต่อไป นอกจากนั้น ยังได้สั่งการช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรที่ต้องการน้ำสำหรับการเริ่มเพาะปลูก พร้อมให้การสนับสนุนเฮลิคอปเตอร์ในภารกิจดับไฟป่าบริเวณพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบ
ทั้งนี้ กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ได้จัดตั้งหน่วยปฏิบัติการฝนหลวง รวมจำนวน 5 หน่วยปฏิบัติการ ได้แก่ หน่วยปฏิบัติการฝนหลวง จ.เชียงใหม่ แพร่ จันทบุรี กาญจนบุรี และสงขลา ระหว่างวันที่ 8 ม.ค. – 11 มี.ค. 2567 ใช้เทคนิคดัดแปรสภาพอากาศ จำนวน 51 วัน 148 เที่ยวบิน ช่วยเหลือ 15 จังหวัดภาคเหนือ ส่งผลให้ค่าฝุ่นละอองขนาดเล็กมีแนวโน้มลดลง ซึ่งจากข้อมูลตรวจวัดฝุ่นละอองในอากาศโดยเครื่องบิน Super King Air การใช้เทคนิคการลดอุณหภูมิชั้นบรรยากาศผกผัน สามารถช่วยระบายฝุ่นละอองที่มีขนาดเล็กกว่า 3 ไมครอน ได้ประมาณ 40-50% เมื่อเปรียบเทียบกับพื้นที่ที่ไม่ได้ปฏิบัติการ