นายรพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่ากรมวิชาการเกษตรเดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายด้านการเกษตรสู่ความสำเร็จ และเห็นผลเป็นประจักษ์ภายใน 100 วัน ตามนโยบายของร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยเน้นการผลิตที่ได้คุณภาพมาตรฐาน มีความปลอดภัย เพื่อที่จะนำไปสู่สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ยกระดับรายได้ภาคการเกษตรของเกษตรกรให้สูงขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งแปลงต้นแบบการผลิตสินค้ามูลค่าสูงของจังหวัดกาฬสินธุ์ เป็นแปลง ผลิตผักอินทรีย์ “กาฬสินธุ์โมเดล ผักอินทรีย์เงินล้าน” ของนางสุจารี ธนสิริธนากร ที่ให้ผลตอบแทนสูงถึง 1,071,216 บาท/ไร่/ปี ซึ่งเกษตรกรได้นำเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรไปปฏิบัติในแปลง เช่น ปุ๋ยชีวภาพ ชีวภัณฑ์ป้องกันกำจัดศัตรูพืชและการรับรองมาตรฐานเกษตรอินทรีย์
วันที่ 10 มีนาคม 2567 สำนักวิจัยและพัฒนาการเกษตรเขตที่ 3 จัดงาน 76 จังหวัด 76 โมเดล สินค้าเกษตรมูลค่าสูงภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน “กาฬสินธุ์โมเดล ผักอินทรีย์เงินล้าน” ณ สวนปันบุญ บ้านดอนแคน ตำบลฆ้องชัยพัฒนา อำเภอฆ้องชัย จังหวัดกาฬสินธุ์ โดยมีผู้ว่าราชการจังหวัดกาฬสินธุ์ นายสนั่น พงษ์อักษร กล่าวต้อนรับ และอธิบดีกรมวิชาการเกษตร เป็นประธานเปิดงาน พร้อมร่วมชม การเตรียมพันธุ์และการเพาะกล้า เทคโนโลยีการผลิตผักอินทรีย์แบบกลางแจ้ง และแบบโรงเรือน เทคโนโลยีการใช้ชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพ และการจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า กรมวิชาการเกษตรมีความมุ่งมั่นเป็นอย่างยิ่ง ในการคัดสรรเกษตรกรที่มีองค์ความรู้ ให้เป็นเกษตรกรต้นแบบดีเด่นในระดับจังหวัด และระดับเขต เพื่อที่จะประชาสัมพันธ์ถ่ายทอด ความรู้ และเทคโนโลยีการผลิตพืชมูลค่าสูง ให้แก่ เกษตรกร บุคลากรภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนผู้สนใจทั่วไป ซึ่งการจัดงานวันถ่ายทอดเทคโนโลยี 76 จังหวัด 76 โมเดล “กาฬสินธุ์โมเดล ผักอินทรีย์เงินล้าน” ครั้งนี้ จะเป็นการขยายผลโครงการที่ประสบความสำเร็จ ในการผลิตสินค้าเกษตรอินทรีย์ สร้างรายได้สูง ให้กับทุกภาคส่วน ได้เรียนรู้ และร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้ในด้านการปลูกพืชแบบผสมผสานตามมาตรฐานเกษตรอินทรีย์ ร่วมกัน กิจกรรมหลักของงานประกอบด้วย แปลงสาธิต นิทรรศการ แปลงต้นแบบระดับเขตและระดับจังหวัด จำนวน 11 ต้นแบบ เสวนาการจัดการความเสี่ยงและความสมดุลในการผลิต โดยเกษตรกรต้นแบบ 11 จังหวัด 11 โมเดล และฐานเรียนรู้ 4 ฐานเรียนรู้ ประกอบด้วย การเตรียมพันธุ์และการเพาะกล้า เทคโนโลยีการผลิตผักอินทรีย์แบบกลางแจ้งและแบบโรงเรือน เทคโนโลยีการใช้ ชีวภัณฑ์และปุ๋ยชีวภาพ การจัดการผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยว และการจัดนิทรรศการผลิตพืชมูลค่าสูงในภาคตะวันออกเฉียงตอนบน ตลอดจนการแจกพันธุ์พืช ปัจจัยการผลิต แก่ผู้เข้าร่วมงาน ซึ่งผู้ร่วมงานประกอบด้วย เกษตรกร ประชาชน ข้าราชการ พนักงาน บุคลากรภาครัฐ และเจ้าหน้าที่ จำนวน 300 ราย
การจัดงานครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากเกษตรกรต้นแบบ และเครือข่าย หน่วยงานของกรมวิชาการเกษตร และหน่วยงานในจังหวัดกาฬสินธุ์ “กาฬสินธุ์โมเดล ผักอินทรีย์ เงินล้าน” เป็นโมเดลต้นแบบระดับเขตของภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ในการเผยแพร่เทคโนโลยีการผลิตผักอินทรีย์มูลค่าสูง สร้างรายได้ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน รวมทั้งต้นแบบระดับจังหวัด อีก 10 โมเดล ซึ่งจะเป็นแนวทางให้ผู้สนใจ ได้นำไปดำเนินการให้เหมาะสมกับสภาพของแต่ละพื้นที่ สร้างรายได้สูงคุ้มค่าต่อการลงทุน และขอแสดงความยินดีกับเกษตรกรผู้ได้รับรางวัลทุกท่าน ที่ได้สร้างสรรค์ต้นแบบการผลิตสินค้าเกษตรปลอดภัยมูลค่าสูง เชิงประจักษ์ และร่วมขยายผลเทคโนโลยีของกรมวิชาการเกษตรให้สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในวงกว้าง นำไปสู่การพัฒนาภาคการเกษตรของประเทศไทยต่อไป
กรมวิชาการเกษตรมีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินการและขยายผลโครงการ 76 จังหวัด 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและต่อเนื่อง เพื่อให้ได้องค์ความรู้ 76 โมเดล การผลิตสินค้าเกษตรมูลค่าสูง จากการถอดบทเรียนแห่งความสำเร็จของเกษตรกรต้นแบบ 76 จังหวัด ที่สามารถนำไปถ่ายทอดและขยายผลความสำเร็จให้กับเกษตรกรและผู้ที่สนใจทั่วประเทศได้นำไปใช้ประโยชน์ด้วยการปฏิบัติ ประยุกต์ใช้ และต่อยอดไปยังผู้อื่นได้ เกษตรกรเกิดทักษะและความรู้ ทำให้ผลผลิตต่อพื้นที่มากขึ้น มีคุณภาพ มูลค่าของสินค้าเพิ่มสูงขึ้นเกษตรกรมีคุณภาพชีวิตที่ดี ชุมชนและประเทศมีเศรษฐกิจเข็มแข็ง มั่นคง และยั่งยืน ภายใต้หลักการ “เกษตรกรต้องอยู่ดี สินค้าเกษตรมูลค่าสูง ทรัพยากรเกษตรยั่งยืน”