ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่พบปะเยี่ยมเยียน พร้อมมอบสิ่งของให้กับประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากวาตภัยและลูกเห็บ ในพื้นที่อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร ได้แก่ ถุงยังชีพ ข้าวสาร เมล็ดพันธุ์ผัก และกล้าพันธุ์ผัก เมล็ดพันธุ์ข้าวโพดและแหนแดงให้กับผู้ประสบภัยและรับฟังข้อเสนอ ปัญหา อุปสรรค พร้อมหารือแนวทางการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดกำแพงเพชร ณ องค์การบริหารส่วนตำบลวังบัว ตำบลวังบัว อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร
โดยจังหวัดกำแพงเพชรเกิดวาตภัยและพายุลูกเห็บ เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา มีอำเภอที่ได้รับผลกระทบภัยพิบัติจากวาตภัยและพายุลูกเห็บ จำนวน 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอคลองขลุง อำเภอเมืองกำแพงเพชร อำเภอไทรงาม และอำเภอทรายทองวัฒนา โดยในส่วนของอำเภอคลองขลุง มีพื้นที่การเกษตรทั้งหมด 270,127 ไร่ เกษตรกร 8,666 ราย ประสบภัยจากการเกิดวาตภัยและมีพายุลูกเห็บตก มีเกษตรกรผู้ประสบภัย จำนวน 505 ราย มีพื้นที่ประสบภัยที่คาดว่าจะเสียหายจำนวน 10,357.50 ไร่ มีพืชผลทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ได้แก่ ข้าว พืชไร่และพืชผัก ไม้ผลไม้ยืนต้น และอื่น ๆ ในพื้นที่ 5 ตำบล 20 หมู่บ้าน ได้แก่ ตำบลหัวถนน 2 หมู่บ้าน เกษตรกร 125 ราย ตำบลวังบัว 8 หมู่บ้าน เกษตรกร 217 ราย ตำบลท่าพุทรา 4 หมู่บ้าน เกษตรกร 101 ราย ตำบลวังไทร 4 หมู่บ้าน เกษตรกร 56 ราย และตำบลท่ามะเขือ 2 หมู่บ้าน เกษตรกร 6 ราย
“ขอชื่นชมผู้ว่าราชการจังหวัดและส่วนราชการที่เข้าช่วยเหลือพี่น้องประชาชนอย่างทันท่วงที แต่อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่าจะมีเกษตรกรในพื้นที่ที่ยังไม่ได้ปรับปรุงทะเบียนเกษตรกร ทำให้ไม่เข้าหลักเกณฑ์การได้รับเงินชดเชย แต่กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมการข้าว มีโครงการส่งเสริมการเปลี่ยนเมล็ดพันธุ์ข้าว สนับสนุนเมล็ดพันธุ์ให้เกษตรกร รายละไม่เกิน 450 กก./ราย หรือไม่เกิน 30 ไร่/ราย อีกทั้งจะเรียกประชุมคณะกรรมการกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร เพื่อหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือต่อไป” ร้อยเอก ธรรมนัส กล่าว
ทั้งนี้ จังหวัดกำแพงเพชรมีทําเลที่ตั้งที่มีศักยภาพเหมาะสมกับการเกษตร โดยมีแม่น้ำต้นทุนสายหลักคือแม่น้ำปิงไหลผ่านจังหวัด 104 กิโลเมตร มีพื้นที่ชลประทาน 1.45 ล้านไร่ และเหมาะแก่การทำเกษตรกรรม รวมทั้งมีพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของจังหวัด ทั้ง ข้าว มันสำปะหลัง อ้อยโรงงาน และมีกล้วยไข่เป็นพืชอัตลักษณ์ของจังหวัด มีเป้าหมายการพัฒนาจังหวัดตามแผนพัฒนาจังหวัดกำแพงเพชร พ.ศ. 2566 – 2570 คือ “แหล่งเกษตรปลอดภัย พลังงานทดแทน และท่องเที่ยวมรดกโลกทางวัฒนธรรมและธรรมชาติ”