ในการประชุมคณะกรรมาธิการความมั่นคงแห่งรัฐ กิจการชายแดนไทย ยุทธศาสตร์ชาติและการปฏิรูปประเทศ และคณะกรรมาธิการที่ดิน ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม สภาผู้แทนราษฎร ร่วมกันพิจารณาข้อพิพาทที่ดิน ส.ป.ก. ทับที่อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา
โดยนายสุริยน พัชรครุกานนท์ รองผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ ชี้แจงว่า การจัดทำวันแมพ (ONE MAP) ในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 11 จังหวัด ได้สำรวจพื้นที่ครบทั้งหมดแล้ว ยกเว้นเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ที่ดึงออกมาทบทวน เนื่องจากมีข้อร้องเรียนโดยอ้างว่าพื้นที่อยู่นอกเขตอุทยาน และขอให้ตรวจสอบการแบ่งเส้นแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ ในเขตจังหวัดนครราชสีมา ซึ่งทางอนุกรรมการจัดทำวันแมพ ได้ไปตรวจสอบเส้นแบ่งแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ทั้งหมด ในพื้นที่ 4 จังหวัด กว่า 1 ล้าน 3 แสนไร่ ให้แล้วเสร็จภายใน 2 เดือน ตั้งแต่ 1 มีนาคม 2566 ซึ่งมีการพิจารณาข้อตกลงที่กรมอุทยานทำกับ ส.ป.ก. ในกรณีพื้นที่ที่กรมป่าไม้ส่งมอบให้ ส.ป.ก. และมีพระราชกฤษฎีกากำหนดเป็นเขตปฏิรูปที่ดิน ก่อนกรมอุทยานให้ใช้แนวเขต ส.ป.ก.เป็นหลัก ยกเว้นพื้นที่ที่ไม่สมควรในการปฏิรูปที่ดิน ให้ยึดแนวเขตของกรมอุทยานเป็นหลัก ซึ่งคณะกรรมการวันแมพพิจารณาตามข้อกฎหมายแล้ว พบว่าเส้นแบ่งเขตที่กรมแผนที่ทหารจัดทำ มีอยู่ก่อนแล้ว ถือว่าเป็นที่ ส.ป.ก. แต่อาจไม่เข้าคุณสมบัติการจัดสรรที่ดิน
พร้อมยอมรับว่า การจัดทำแผนที่วันแมพ ยึดตามแผนที่แต่ละหน่วยงานส่งมา จึงอาจมีความคลาดเคลื่อน เพราะอัตราอาจไม่เท่ากัน จึงต้องยึดหลักตามกฎหมายว่าจะต้องเป็นของใคร ซึ่งในกรณีอุทยานแห่งชาติ ตอนนี้ก็ต้องยึดตามแนวเขตของกรมแผนที่ทหาร เพราะมีหลักฐานเป็นภาพถ่ายทางอากาศ ที่พบร่องรอยเข้าไปทำประโยชน์ในพื้นที่ก่อนปี 2530
ขณะที่ นายวีระยุทธ์ วรรณเลิศสกุล ผู้ตรวจราชการกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช ชี้แจงว่า กรมอุทยานฯ หรือกรมป่าไม้ ในขณะนั้น ได้ทำการร่างวัดแนวเขตอุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ตั้งแต่ปี 2502 ก่อนจะจัดทำเป็นแผนที่ในอัตรส่วน 1 : 250,000 ซึ่งเป็นอัตราส่วนแบบหยาบ เพื่อให้สามารถแนบท้ายพระราชกฤษฎี 2505 ได้ และใช้แผนที่นี้ในการดำเนินคดีผู้ลุกล้ำอุทยานมาโดยตลอด ซึ่งมีแนวคำพิพากษาของศาลฎีกา ตามแผนที่ดังกล่าว และแม้ว่าพื้นที่พิพาทจะอยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติ ก็ไม่สามารถจัดสรรให้ชาวบ้านได้ตามข้อตกลงเอ็มโอยู ระหว่างอุทยานแห่งชาติ และ ส.ป.ก. เนื่องจากเป็นป่าอุดมสมบูรณ์
ขณะเดียวกัน ย้ำว่า ไม่ได้บอกว่าแนวของใครถูกใครผิด แต่จะรับได้ว่าเป็นแผนที่ ที่ถูกต้องเทียบแผนที่แนบท้าย พระราชกฤฎีกา 2505 ซึ่งอุทยานยึดในการทำแผนที่ พร้อมถาม ส.ป.ก.โคราช ว่าหากมีการจัดทำแผนที่ จัดทำแนวเขตของส.ป.ก. เหตุใดไม่นำมาแสดงตั้งแต่การจัดทำวันแมพ แต่รอจนเกิดปัญหา
จากนั้น กรมแผนที่ทหาร ได้นำแผนที่ที่เป็นแผ่นกระดาษ มากางชี้แจงอธิบายไล่ทีละแผ่น ส่วนหนึ่งเป็นหลักฐานชุดเดียวกับที่ชี้แจงต่อนายกรัฐมนตรี โดย พันเอกปืน อินทรวงส์สักดิ์ ผู้อำนวยการศูนย์ข้อมูลทางแผนที่ เปิดภาพถ่ายทางอากาศ ส.ป.ก.เขาลูกช้าง ตั้งแต่ก่อนปี 2510 , ปี 2526 ถูกกันเป็นพื้นที่ ส.ป.ก. , ปี 2529 ยังไม่มีแนวกันไฟ , ปี 2537 เริ่มมีสภาพป่ารก ป่าทุ่ง เริ่มมีถนน และแนวกันไฟปี 2538 ที่มีการอ้างว่ามีการสำรวจใช้แนวกันไฟ ตามอุทยานยึดถือ พร้อมโชว์ภาพถ่ายลักษณะการเข้าไปทำเกษตรกรรม จึงขอยืนยันในแนวเขตที่จัดทำว่าอาจจะเป็นแนวที่ถูกต้อง เพราะได้ยึดตามแผนที่แนบท้ายพระราชกฤษฎีก 2505 แต่แนวเขตที่กรมอุทยานนำมาแสดงว่ามีการทำแนวกันไฟ ทำถนน อยู่นอกเขตของกรมแผนที่ทหาร
นายชัยวัฒน์ ลิ้มลิขิตอักษร ผอ.สำนักอุทยานแห่งชาติ ยืนยันว่าการจัดทำแผนที่ของกรมอุทยานถูกต้อง และไม่ยอมรับแผนที่ของกรมแผนที่ทหาร เว้นแต่จะมีการประกาศวันแมพ ออกมา และไม่ขอเถียงกับกรมแผนที่ทหาร หากไม่ได้ข้อยุติ คงต้องไปเจอกันที่ศาล ในกระบวนการยุติธรรม ส่วนที่กรมแผนที่ทหาร เห็นว่ามีการทำแนวรั้วและสร้างถนนปี 2538 เพราะเพิ่งมีมติ ครม. ให้ดำเนินการ
นายอำมริต คงแก้ว ปฏิรูปที่ดินจังหวัดอุบลราชธานี รักษาราชการแทนปฏิรูปที่ดินจังหวัดนครราชสีมา ยอมรับ พื้นที่ที่เห็นไม่มีร่องรอยการเข้าทำประโยชน์ ไม่ถูกต้องตามระเบียบ ส.ป.ก. เพราะการจัดสรรที่ดินต้องมีร่องรอยการทำประโยชน์ ตนพูดตามข้อเท็จจริง
ขณะที่ นายจิรศักด์ นานกลาง นายช่างสำรวจอาวุโส ยืนยันว่า พื้นที่ดังกล่าวไม่ใช่ป่าสงวนแห่งชาติ แต่เป็นพื้นที่จำแนกออกจากป่าไม้ถาวร ซึ่งถูกส่งมอบโดยอัตโนมัติให้ ส.ป.ก. เนื่องจากเป็นพื้นที่รกร้างว่างเปล่า เพื่อให้เป็นที่ดินทำกินแก่ราษฎร ตามที่กรมแผนที่ทหารแปลงภาพมาถือว่าถูกต้องแล้ว
ขณะที่ นายชัยวัฒน์ พยายามจี้ถาม นายจิรศักด์ ถึงกรณีรังวัดได้ปักหมุดวัดแนวเขตหรือไม่ ซึ่งนายจิรศักดิ์ ก็ยืนยันว่า ใช้หมุดหลักเขตเดียวกับอุทยาน ทำให้กรรมาธิการบอกว่า การยืนยันหมุดเดียวกับอุทยาน เป็นการให้ข้อมูลย้อนแย้งกันเอง
นายอำมริต กล่าวว่า ที่ผ่านมา ที่ไม่เคยนำแผนที่ของ ส.ป.ก.มาแสดงในครั้งเมื่อทำวันแมพ เพราะมีการตกลงระหว่างหน่วยงานแล้ว ว่าจะยึดตามกรมอุทยานเป็นหลัก และตอนนี้ ส.ป.ก. ตกเป็นจำเลยสังคมพอสมควร จำเป็นต้องพิสูจน์เพื่อความกระจ่างชัด