พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี รายงานต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม. 30 พ.ค.65) ว่า“จากสถานการณ์สงคราม รัสเซีย-ยูเครน รวมทั้งมาตรการของอินโดนีเซีย ที่ได้มีการประกาศห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม ส่งผลทำให้ราคาปาล์มน้ำมันและน้ำมันปาล์มภายในประเทศ มีความผันผวนค่อนข้างสูง
คณะกรรมการ นโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ หรือ กนป. ได้มอบหมาย ให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงพาณิชย์ และกระทรวงพลังงาน ติดตามสถานการณ์ปาล์มน้ำมัน และน้ำมันปาล์มทั้งภายในและภายนอกประเทศอย่างใกล้ชิด
พร้อมทั้ง ขอให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงพลังงาน เร่งสำรวจและรายงานสต็อกน้ำมันปาล์มดิบปริมาณความต้องการใช้และการส่งออกให้รวดเร็วทันต่อสถานการณ์
โดยใช้กลไกบริหารจัดการสมดุลน้ำมันปาล์มแบบยืดหยุ่น เพื่อไม่ให้กระทบกับราคาปาล์มน้ำมันที่เกษตรกรได้รับและไม่กระทบกับผู้บริโภค จากราคาน้ำมันปาล์มขวด ปรับตัวสูงขึ้น
รวมทั้ง มอบหมายกระทรวงพาณิชย์ให้กำกับดูแล และเร่งหาแนวทางแก้ไขปัญหาเรื่องปุ๋ยราคาแพง และมอบหมายกระทรวงเกษตรฯ ติดตาม กำกับ ตรวจสอบเรื่องเมล็ดพันธุ์ปาล์มน้ำมันและต้นกล้าพันธุ์ปาล์มน้ำมันปลอมอย่างใกล้ชิดด้วย”
ผ่านมาเกือบเดือนเกิดอะไรขึ้น
ราคาน้ำมันปาล์มยังปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่อง
แต่ราคาผลผลิตปาล์มทะลายของเกษตรกร กลับสวนทางคือราคาต่ำลง
คำถามคือ…คณะกรรมการ นโยบายปาล์มน้ำมันแห่งชาติ แก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างไร พาณิชย์แก้อย่างไรพลังงานขยับอะไรได้บ้าง ที่สำคัญกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ที่ต้องดูแลภาคการผลิตขยับอย่างไร
วันนี้แม้ปาล์มนำมันราคายังเกิน 4 บาท หรือแนวรับราคาการประกันรายได้เกษตรกรชาวสวนปาล์ม แต่ในความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ตุ้นทุนการผลิตปาล์มสูงขึ้นทุกวัน ปุ๋ยยาแพงมากขึ้น นี่ถ้าราคาลงมาเท่ากับประกันรายได้คือ 4 บาท มีหวังเห็นข่าว ชาวสวนปาล์มปิดถนนประท้วงกันไปแล้ว
ความเคลื่อนไหวในรอบเดือนที่เกี่ยวข้องกับปาล์มน่าสนใจหลายๆเรื่อง ไม่นับรวมกับการแถลงข่าวจากฟากฝั่งการเมืองที่เป็นอนุกมธ.แก้ปัญหาปาล์มหลายคณะ มุ่งไปที่ให้แก้ปัฐหาปุ๋ยแพง (เรื่องปุ๋ยนี่กระทบกับเกษตรกรทุกส่วนนั่นหละลุง ปาล์มน้ำมันนี่ยังโชคดีกว่าเพื่อน)
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่าสนค.ได้ติดตามและประเมินสถานการณ์ หลังอินโดนีเซีย ยกเลิกคำสั่งห้ามส่งออกน้ำมันปาล์ม ตามนโยบายของ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์(นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ที่มุ่งเน้นการแก้ปัญหาราคาสินค้าเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน
น้ำมันปาล์มบรรจุขวด เป็นหนึ่งในสินค้าที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงพาณิชย์ ทั้งนี้ จากสถิติราคาน้ำมันปาล์มบรรจุขวดในปี 2564 พบว่าราคาน้ำมันปาล์มดิบกึ่งบริสุทธิ์อยู่ที่ขวดละ 54-55 บาท ขณะที่ปัจจุบัน (พฤษภาคม 2565) ราคาเฉลี่ยอยู่ที่ขวดละ 68 บาท สืบเนื่องจากราคาเฉลี่ยของผลปาล์มดิบปรับเพิ่มขึ้น จากราคาเฉลี่ย 6.5 บาทต่อกิโลกรัม ในปี 2564 เป็น 9.6 บาทต่อกิโลกรัม ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2565
การขยับขึ้นของราคาน้ำมันปาล์มในตลาดโลก เกิดขึ้นจาก 4 สาเหตุหลักคือ
1) การฟื้นตัวของความต้องการน้ำมันปาล์มในตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดอินเดีย
2) มาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มของอินโดนีเซียเพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนในประเทศ โดยในปี2565 ได้ออกมาตรการห้ามส่งออกน้ำมันปาล์มแล้ว 2 ครั้ง คือเดือนมกราคม – มีนาคม และเดือนพฤษภาคม
3) ผลกระทบด้านพลังงานที่เกิดจากสงครามรัสเซีย-ยูเครน ส่งผลให้มีการใช้น้ำมันปาล์มผสมเป็นไบโอดีเซลเพิ่มขึ้นในฐานะพลังงานทดแทน
4) ผลกระทบจากภัยแล้งในแอฟริกาใต้ทำให้ปริมาณผลผลิตถั่วเหลืองลดลง ภาคการผลิตอาหารส่วนใหญ่จึงจำเป็นต้องหันมาใช้น้ำมันปาล์มเป็นทางเลือกมากขึ้น
ทั้งนี้ ข้อมูลจากกรมการค้าภายใน ได้ชี้ให้เห็นถึงภาวะตลาดของน้ำมันปาล์มของไทย ณ วันที่ 31 พฤษภาคม 2565 พบว่า ประเทศไทยมีสต็อกของน้ำมันปาล์มต่อเดือนอยู่ที่ระดับ 190,000-200,000 ตันซึ่งนอกจากจะเพียงพอต่อความต้องการในประเทศแล้ว ไทยยังสามารถส่งออกไปยังต่างประเทศเพื่อสร้างรายได้ให้แก่เกษตรกรและประเทศได้อีกด้วย
โดยตลาดส่งออกหลักของไทย คือ ประเทศอินเดีย ซึ่งมีมูลค่าส่งออกในสัดส่วนร้อยละ 74.7 ของการส่งออกน้ำมันปาล์มทั้งหมดของไทยในไตรมาสแรก ปี 2565 ขณะที่ราคาน้ำมันปาล์มดิบของไทย อยู่ที่ 54-55 บาทต่อลิตร ซึ่งใกล้เคียงกับราคาน้ำมันปาล์มดิบของมาเลเซียที่ 55-56 บาทต่อลิตร นอกจากนี้การตึงตัวของอุปทานน้ำมันปาล์มในตลาดโลก เป็นโอกาสการส่งออกน้ำมันปาล์มของไทยที่จะสามารถส่งออกได้เพิ่มขึ้น
นายรณรงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า กระทรวงพาณิชย์โดยรองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ (นายจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์) ได้สั่งการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งเจรจากับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งระบบ ทั้งเกษตรกร และโรงกลั่น พร้อมทำความเข้าใจกับผู้บริโภค เพื่อให้เกิดความสมดุลของราคาที่จะทำให้ผู้บริโภคได้รับความเดือดร้อนน้อยที่สุด ขณะที่เกษตรกรชาวสวนปาล์มได้ราคาดีที่สุด และเพื่อสร้างความมั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหาการขาดแคลนในประเทศในระยะยาวต่อไป…
เนื้อข่าวจาก ผอ.สนค. นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ น่าจะตรงที่สุดแล้วหละ แน่นด้วยข้อมูล เป็นข่าวที่มองเห็นภาพปาล์มน้ำมันชัดเจนยิ่งขึ้น
ส่วนข่าวที่ต้องมาวิเคราะห์ต่อเนื่องคือ ข่าวของท่านรองจุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์รองนายกรัฐมนตรีและรมว.พาณิชย์ ให้สัมภาษณ์ เมื่อ วันที่ 24 มิ.ย. ที่ผานมา ถึงการดูแลราคาสินค้า ว่า“กระทรวงพาณิชย์จะใช้ “วิน-วิน โมเดล” และนโยบายทั้งเชิงรุกและเชิงลึก ดูลึกในสินค้าแต่ละตัวอะไรที่ต้นทุนเพิ่มสูงขึ้นจริงและสูงขึ้นเท่าไหร่ จนกระทั่งการผลิตขาดทุนหรือเดินหน้าต่อไม่ได้
กระทรวงพาณิชย์ต้องพิจารณาว่าการปรับราคาควรเป็นเท่าไหร่ให้น้อยที่สุดให้ผู้บริโภคเดือดร้อนน้อยที่สุด ซึ่งเป็นอำนาจของกรมการค้าภายในไปช่วยดู แต่ตนให้นโยบายไปแล้วว่าใช้ “วิน-วิน โมเดล” เช่นน้ำมันปาล์มขวดที่แพงขึ้นมาในช่วงหลังเยอะเพราะราคาผลปาล์มของเกษตรกรได้ราคาดีมาก เกษตรกรก็พอใจ แต่โรงสกัดกับโรงกลั่นน้ำมันขวดสำหรับผู้บริโภคไม่ค่อยพอใจเพราะต้นทุนแพงขึ้นเยอะ
กระทรวงพาณิชย์พยายามกำกับราคาจำหน่ายไม่ให้ขึ้นสูงจนทำให้ผู้บริโภคเดือดร้อนจนเกินสมควรเรียกว่า วิน-วินโมเดล แต่ถ้าอะไรจำเป็นต้องปรับต้องมีราคากำกับดูแลว่า ถ้าต้นทุนผลปาล์มเท่านี้ ราคาน้ำมันปาล์มขวดควรไม่เกินเท่าไหร่ ถ้าขายเกินถือว่าค้ากำไรเกินควร ปัจจุบันที่ติดตามตลอด ยังไม่เกินราคาที่กำกับ แต่แน่นอนว่าจะปรับสูงขึ้นบ้างเพราะผลปาล์มราคาสูงขึ้นมาก”
ข่าวนี้ท่านรองจุรินทร์กำลังบอกอะไร
หนึ่งโครงการวินวินโมเดล ที่ดูแลทั้งชาวสวนปาล์มปาล์ม และดูแลผู้ประกอบการ ทุกอย่างจะต้องเป็นธรรม
สองเกษตรกรพอใจกับราคาปาล์มน้ำมันในระดับมาก
สามผู้ประกอบการไม่ค่อยพอใจเพราะต้นทุนสูงขึ้น
สี่พาณิชย์จะไปดูเรื่องราคาให้เป็นธรรมสำหรับผู้บริโภค
ส่วนผลงานพาณิชย์และการแก้ปัญหาเป็นอย่างไร ขุนพิเรนทร์ ไม่ต้องสาธยายให้เมื่อยตุ้ม วันนี้ทุกคนมีคำตอบอยู่ในใจกันอยู่แล้ว…
เหนื่อยไหม…กับการที่เป็นอยู่
เหนื่อยไหม…กับการฝืนยิ้ม
เหนื่อยไหม…ดาว…