นายจิรวัฒน์ ศิริพานิชย์ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร เขต 5 จังหวัดมหาสารคาม เป็นประธานในพิธีเปิด โครงการ ปลูกรักษ์ ฮักนะกุดกอก คืนต้นไม้ให้ผืนป่า คืนมัจฉาสู่วารี พร้อมด้วย นายพรพนม พรหมแก้ว ประมงจังหวัดมหาสารคาม นายสมพงษ์ การเพิ่ม ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำจืดมหาสารคาม นายวัฒนา ศิริโยธา สมาชิกสภาจังหวัดมหาสารคาม นายวีระพงษ์ พลธิรักษา อดีตผู้ตรวจราชการกรม ส.ป.ก. และ ผู้นำชุมชน ประชาชน กว่า 300 คน ณ บริเวณ ริมห้วยกุดกอก บ้านป่าเป้า ตำบลยางน้อย อำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม
“ปลูกรักษ์ ฮักนะกุดกอก คืนต้นไม้ให้ผืนป่า คืนมัจฉาสู่วารี” เป็นโครงการต่อเนื่องจากโครงการ “รวมใจภักดิ์ รักษ์กุดกอก” ซึ่งเป็นโครงการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวฯ โดยความร่วมแรงร่วมใจของประชาชนในพื้นที่ปลูกต้นรวงผึ้ง ซึ่งเป็นต้นไม้ประจำรัชกาลที่ 10 โดยได้รับการสนับสนุน ต้นรวงผึ้งจากกรมส่งเสริมการเกษตร
ต่อมาคณะทำงานได้ยกระดับจากอาหารตา ปลูกเพื่อความสวยงาม สู่การสร้างแหล่งอาหารให้กับชุมชน และยังเป็นการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ จึงเป็นที่มา ของ “ปลูกรักษ์ ฮักนะกุดกอก คืนต้นไม้ให้ผืนป่า คืนมัจฉาสู่วารี” ซึ่งได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดีจากหน่วยงานราชการ ภาคเอกชน และประชาชน อาทิ กรมป่าไม้ กรมส่งเสริมการเกษตร กรมวิชาการเกษตร กรมปศุสัตว์ กรมพัฒนาที่ดิน กรมหม่อนไหม บริษัท อีสท์เวสท์ซีด จำกัด ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพตราศรแดง บริษัท เจียไต๋ จำกัด ผู้ผลิตเมล็ดพันธุ์คุณภาพตราเจียไต๋ นับดาวโฮม องค์การบริหารส่วนตำบลยางน้อย รพสต.บ้านยางใหญ่ ผู้นำและประชาชนในพื้นที่
“ลำห้วยกุดกอก” เป็นลำน้ำสาขาของแม่น้ำชี เป็นลำห้วยที่มีความเป็นมาอย่างยาวนาน เป็นเสมือนเส้นเลือดใหญ่ของพี่น้องหลายตำบล ทั้งตำบลยางน้อย ตำบลแห่ใต้ อำเภอโกสุมพิสัย ตำบลหนองซอน (อำเภอเชียงยืน) ซึ่งสะท้อนผ่านประเพณีและวัฒนธรรมท้องถิ่นที่สืบต่อกันมาอย่างยาวนาน ในทุกเดือน เมษายน ชาวบ้านในสามตำบล (2 อำเภอ) จะเดินทางมาสืบสาน “บุญแห่น้ำ” มาทำพิธีสืบชะตาและนำน้ำจากลำห้วยกุดกอกกลับสู่ภูมิลำเนาของตัวเอง ตามคติความเชื่อนำความอุดมสมบูรณ์จากลำห้วยแห่งนี้สู่หมู่บ้านของตน
บริเวณพื้นที่ติดกุดกอกเอง เคยขุดค้นพบ กระดูกของคนโบราณ ซึ่งสันนิษฐานกันว่า บริเวณลำห้วยกุดกอก เป็นที่ตั้งชุมชนโบราณ แต่เนื่องจาก เป็นพื้นที่ที่น้ำท่วมบ่อย ชาวบ้านเลยขยับหมู่บ้านขึ้นไป
ลำห้วยกุดกอกในปัจจุบัน ผ่านการขุดลอกและพัฒนาแหล่งน้ำจากหน่วยงานต่างๆหลายครั้ง ในปี 2524-2526 สำนักงานเร่งรัดพัฒนาชนบทมหาสารคาม ในขณะนั้น ได้ดำเนินการขุดอ่างเก็บน้ำและทำฝายน้ำล้น เป็นการบูรณะกุดกอกครั้งใหญ่สุด ทำให้เป็นลำน้ำที่ประชาชนสามารถใช้ประโยชน์เพื่อการอุปโภคบริโภคและน้ำเพื่อการเกษตรอย่างเต็มที่ หลังจากนั้น มีหน่วยงานหลายหน่วยงานได้ดำเนินการปรับปรุงขุดลอกอยู่หลายครั้ง
+สิ่งที่หายไปจากกุดกอก+
+หายไปจากรัฐ+
การดำเนินการภาครัฐที่ขาดความเชื่อมโยงกับบริบทและวิถีชีวิตดั้งเดิมของคนในชุมชน ได้ส่งผลกระทบมาอย่างต่อเนื่อง การขุดลอกลำห้วยภาครัฐทำเพียงขุดดินยกคูคันให้สูงขึ้น เพื่อให้เก็บน้ำได้มากขึ้น ในขณะเดียวกันพื้นที่ต้นไม้ พื้นที่การเกษตรของชาวบ้านที่ปลูกพืชผักริมน้ำ ได้หายไป บางสวนเหลือพื้นที่ไม่เพียงพอต่อการปลูกผักด้วยซ้ำ ความอุดมสมบูรณ์และแหล่งอาหารจากกุดกอกหายไป
+หายไปจากชุมชน+
กุดกอกเป็นลำห้วยหนึ่งที่ไม่เคยเหือดแห้ง ไม่ว่าจะแล้งอย่างไร แต่น้ำในกุดกอกยังคงมีเพื่อให้ประชาชนใช้ในการอุปโภคบริโภค แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา “กุดกอก” เหลือน้ำเพียงแค่ในอ่างเก็บน้ำซึ่งมีปริมาณเล็กน้อยแทบจะไม่เพียงพอต่อการผลิตน้ำปะปา ซึ่งปัญหาเกิดจากสภาวะแห้งแล้งและชาวบ้านสูบน้ำไปใช้ในการเกษตร บริเวณที่กว้างที่สุดของกุดกอก แม้เป็นพื้นที่ตื้นสุด แต่ในอดีตไม่เคยแห้ง กลายเป็นทุ่งหญ้าเลี้ยงสัตว์
รวมไปถึงการใช้น้ำโดยปราศจากจิตสำนึกของคนบางคน ส่งผลกระทบกับส่วนรวมและที่สำคัญ กุดกอกขาดการบริหารจัดการ ขาดการสร้างจิตสำนึกร่วมกัน
การจัดงานในครั้งนี้ จึงมุ่งหวัง เหนือกว่าการลูกป่า คือ ปลูกจิตสำนึก เหนือกว่าการปล่อยปลา คือ ปล่อยอคติในใจ ให้พี่น้องทุกคนหันมาอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากลำห้วยกุดกอกแห่งนี้ด้วยจิตสำนึกร่วมกัน