นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร พร้อมคณะผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร เข้าเยี่ยมชม และร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเพิ่มเติมว่าด้วยการดำเนินการพัฒนาองค์ความรู้งานวิจัยด้านพืช และเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร ระหว่างกรมวิชาการเกษตร และ บริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด ณ คูโบต้าฟาร์ม อ.บ้านบึง จังหวัดชลบุรี ตามนโยบาย รมว.เกษตร เพิ่มรายได้เกษตรกร 3 เท่า ภายใน 4 ปี ด้วยกลยุทธ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” สร้างความร่วมมือภาครัฐ เอกชน
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า วันนี้เป็นโอกาสอันดีที่ตน และคณะผู้บริหารกรมวิชาการเกษตร ได้มีโอกาสเข้าเยี่ยมชมคูโบต้าฟาร์ม เพื่อพัฒนาองค์ความรู้งานวิจัยด้านพืช และเทคโนโลยีเครื่องจักรกลการเกษตร ระหว่าง กรมวิชาการเกษตร และบริษัทสยามคูโบต้าคอร์ปอเรชั่น จำกัด และลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือร่วมกันระหว่างสองหน่วยงาน ในการวิจัยและพัฒนาด้านการผลิตพืช และเครื่องจักรกลการเกษตร ด้วยการผลิตพืชแบบ Low Carbon ลดปัญหาฝุ่นควันภาคเกษตร ภายใต้ Campaign 3R ลดปัญหา PM2.5 ภาคการเกษตรอย่างยั่งยืน โดยใช้เครื่องจักรกลเกษตร และนวัตกรรมการเกษตรแบบครบวงจร
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า การหารือความร่วมมือในครั้งนี้ได้กำหนดหน้าที่ของทั้งสองฝ่าย เพื่อให้การบริหารงานวิจัย และโครงการกิจกรรมต่าง ๆ ภายใต้ขอบเขต และกรอบความร่วมมือเกิดประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผลตามวัตถุประสงค์ โดยบริษัทสยามคูโบต้าฯ จะให้การสนับสนุนองค์ความรู้และเทคโนโลยีด้าน เครื่องจักรกลการเกษตรในการดำเนินงานวิจัย และโครงการภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ รวมทั้งเครื่องจักรกลการเกษตรในการดำเนินงานวิชาการและกิจกรรมต่าง ๆ ของ กรมวิชาการเกษตร เพื่อให้เกิดการพัฒนาและส่งเสริม การผลิตถั่วเหลืองและถั่วเขียว พืชเศรษฐกิจอื่น ๆ ด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรแบบครบวงจรและนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อการผลิตพืชแบบ Low Carbon ลด ปัญหาฝุ่นควันภาคเกษตร ภายใต้ Campaign 3R ลด ปัญหา PM2.5 ภาคเกษตรอย่างยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา กรมวิชาการเกษตรได้ดำเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจตามมาตรฐานของประเทศไทย T-VER (Thailand Voluntary Emission Reduction Program) ในพืชเศรษฐกิจสำคัญ และจัดทำ Baseline ในแต่ละพืช และส่งบุคลากรไปอบรมผู้ตรวจประเมินกับองค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) เพื่อเป็นประเมินภายนอกสำหรับโครงการภาคสมัครใจ (VVB) ซึ่ง VVB ของกรมวิชาการเกษตรในขั้นต้นสามารถตรวจสอบความใช้ได้และทวนสอบ โครงการ T-VER ในการขอรับรองคาร์บอนเครดิตภาคเกษตรได้ และอยู่ระหว่างการรับรอง ISO 14065 จาก สมอ. และ อบก. เพื่อที่กรมวิชาการวิชาการเกษตรสามารถเป็นหน่วยงานในการตรวจประเมินได้ต่อไป
ในส่วนความร่วมมือกรมวิชาการเกษตร จะให้การสนับสนุนและให้ความร่วมมือในด้านงานวิจัย และองค์ความรู้ทางวิชาการในการพัฒนาด้านการเกษตรและเทคโนโลยีการเกษตร โดยเฉพาะการร่วมวิจัยและพัฒนาการผลิตถั่วเหลือง ถั่วเขียว และพืชอื่น ๆ ด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรแบบครบวงจร และนวัตกรรมสมัยใหม่ เพื่อการผลิตพืชแบบ Low Carbon ลดปัญหาฝุ่นควันภาคเกษตร อย่างยั่งยืน รวมทั้งให้การสนับสนุนนักวิจัย และผู้เชี่ยวชาญของกรมวิชาการเกษตรเพื่อปฏิบัติงานและถ่ายทอดเทคโนโลยีในโครงการต่าง ๆ ภายใต้บันทึกข้อตกลงความร่วมมือฉบับนี้ โดยได้ขยายระยะเวลาบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจากเดิมที่ได้จัดทำขึ้นเมื่อวันที่ 26 พฤศจิกายน 2564 และจะสิ้นสุดลงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2567 ไปจนถึงวันที่ 26 พฤศจิกายน 2570
“ประเด็นข้อหารือร่วมกับ บ.สยามคูโบต้าฯ ในครั้งนี้เป็นไปตามนโยบายด้านการเกษตรของรัฐบาลและร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในการเพิ่มรายได้ภาคการเกษตร เป็น 3 เท่าใน 4 ปี ด้วยกลยุทธ์ตลาดนำ-นวัตกรรมเสริม-เพิ่มรายได้ สร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน โดยได้หารือถึงการส่งเสริมพันธุ์ถั่วเหลืองที่เหมาะสมกับการใช้รถเกี่ยวนวด การพัฒนา/ปรับปรุงเครื่องจักรกลเกษตรในการผลิตเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง แนวทางในการเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลืองให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกร และ รองรับการขยายพื้นที่ปลูกถั่วเหลืองของประเทศ และความร่วมมือในการผลักดันการเพิ่มปริมาณเมล็ดพันธุ์ถั่วเหลือง เช่น การทำแปลงต้นแบบผลิตเมล็ดพันธุ์ด้วยเครื่องจักรกลการเกษตรครบวงจร ชีวภัณฑ์เพื่อการเกษตร และนวัตกรรมสมัยใหม่” อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าว