นายระพีภัทร์ จันทรศรีวงศ์ อธิบดีกรมวิชาการเกษตร เปิดเผยว่า ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สนับสนุนกรมวิชาการเกษตร ในการขับเคลื่อนเทคโนโลยี genome editing หรือ gene editing (GEd) ภาคเกษตรสู่ความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร โดยกรมวิชาการเกษตรได้รับหนังสือจากนายวรรณพ วิเศษสงวน ผู้อำนวยการศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (ไบโอเทค) ประธานคณะกรรมการเทคนิคด้านความปลอดภัยทางชีวภาพ (Technical Biosafety Committee – TBC) ลงวันที่ 26 มกราคม 2567 เรื่องการจัดทำ “แนวทางการพิจารณาเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม (genome editing)” เพื่อเป็นเกณฑ์ด้านเทคนิควิชาการสำหรับพิจารณาสิ่งมีชีวิตที่พัฒนาโดยเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนมที่ไม่เข้าข่ายสิ่งมีชีวิตดัดแปลงพันธุกรรม ซึ่งถือเป็นข่าวดีในรอบ 30 ปี ในการขับเคลื่อนประเทศด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่
คณะกรรมการ TBC มีหน้าที่จัดทำมาตรการสำหรับการควบคุมและ/หรือให้คำปรึกษาด้านเทคนิคในการดำเนินกิจกรรมใดๆ ที่เกี่ยวกับการวิจัยด้านเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่หรือพันธุวิศวกรรม ให้เป็นไปตามแนวทางปฏิบัติความปลอดภัยทางชีวภาพ โดยคณะกรรมการ TBC ได้พิจารณาจัดทำหลักเกณฑ์ฯ ตั้งแต่ปี 2563 และผ่านการพิจารณาจนแล้วเสร็จ ประกาศเป็นหลักเกณฑ์ของประเทศในเดือนมกราคม 2567 ซึ่งเป็นข่าวดี ที่ประเทศไทยจะสามารถใช้เทคโนโลยี GEd ที่ไม่มียีนถ่ายฝากจากสิ่งมีชีวิตอื่น และแก้ไขพันธุกรรมที่มีความจำเพาะและแม่นยำ ทำได้ง่าย ใช้เวลาสั้น มีต้นทุนต่ำ ไม่ต่างจากการกลายพันธุ์ ที่สำคัญไม่ใช่ GMOs และเป็นเทคโนโลยีสมัยใหม่ที่มีความปลอดภัยสูง
ปัจจุบันเทคโนโลยี GEd ได้รับการสนับสนุนจากองค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO), OECD มี 13 ประเทศประกาศสนับสนุนในที่ประชุมองค์การการค้าโลก (WTO) การใช้ประโยชน์เมล็ดพันธุ์ร่วมกันทั้งเชิงการค้าและการบริโภค โดยกว่า 40 ประเทศทั่วโลก อาทิ แคนาดา อเมริกา บราซิล อาร์เจนตินา ชิลี ญี่ปุ่น จีน อังกฤษ สวิสเซอร์แลน ฟิลิปปินส์ เคนยา รัสเซีย และออสเตรเลีย ประกาศใช้นโยบาย No foreign DNA = not GMOs โดยถือว่าพืช GEd มีความปลอดภัยเช่นเดียวกับพืชปกติทั่วไป
อธิบดีกรมวิชาการเกษตร กล่าวว่า ที่ผ่านมากรมวิชาการเกษตร ได้จัดเวทีสัมมนาวิชาการ เพื่อระดมความคิดเห็น ในด้านเทคโนโลยี GEd เพื่อกำหนดท่าทีที่ชัดเจนของประเทศ เร่งทำการสื่อสารกับภาคประชาชน และผู้บริโภค ให้เป็นที่เข้าใจว่าเทคโนโลยี GEd แตกต่างจาก GMOs ซึ่งหลังจากนี้กรมวิชาการเกษตรจะเชิญผู้เชี่ยวชาญจาก FAO และประเทศต่างๆ อาทิ อเมริกา ญี่ปุ่น ออสเตรเลีย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภาคีเครือข่ายความปลอดภัยอาหารของประเทศไทย ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาชนร่วมผลักดันและสร้างความเชื่อมั่นในเทคโนโลยี GEd เร่งจัดทำขั้นตอนการดำเนินงาน การใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีการปรับแต่งจีโนม สำหรับภาคการเกษตร และเดินหน้าขับเคลื่อนประเทศ สู่ความปลอดภัยและความมั่นคงทางอาหาร ด้วยเทคโนโลยีชีวภาพสมัยใหม่