นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ด้วยวันที่ 24 กุมภาพันธ์ ของทุกปีเป็นวันคล้ายวันพระราชสมภพในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 และในปี 2567 นี้ มูลนิธิพระบรมราชานุสรณ์พระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัยในพระบรมราชูปถัมภ์ กำหนดจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ระหว่างวันที่ 3-4 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อุทยาน ร. 2 อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม
โดยในปีนี้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี องค์ประธานมูลนิธิฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ฯ เสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดงานเป็นการส่วนพระองค์ ในวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งบริษัท อสมท. จำกัด (มหาชน) จะถ่ายทอดสดให้พสกนิกรชาวไทยได้ชื่นชมพระบารมี ตั้งแต่เวลา 15.00 น. เป็นต้นไป
โดยภายในงาน จะพบกับกิจกรรมการแสดงนาฎศิลป์ตามบทพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย ได้แก่ รำอาศิรวาทราชสดุดี การแสดงโขนเรื่องรามเกียรติ์ ทั้งนี้ ทางมูลนิธิฯ จะเปิดจำหน่ายบัตรเข้าชมรอบวันที่ 3 กุมภาพันธ์ 2567 ทางเพจ Facebook : อุทยาน ร.2 บัตรราคา 1,000 – 2,000 บาท เปิดจำหน่ายตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป เงินรายได้จะทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายโดยเสด็จพระราชกุศลสมทบทุนมูลนิธิฯ ส่วนในวันที่ 4 กุมภาพันธ์ 2567 จะเปิดให้ประชาชนทั่วไปเข้าชมการแสดงโขน โดยไม่เก็บค่าใช้จ่ายใด ๆ ระหว่าง เวลา 16.00 – 17.30 น. พร้อมการแสดงศิลปวัฒนธรรม อาทิ ขับเสภาเทิดพระเกียรติ การแสดงหุ่นกระบอก การบรรเลงวงดนตรีไทยและวงดุริยางค์สากล นอกจากนี้ ยังมีการสาธิตและจำหน่ายอาหารคาวหวานในบทพระราชนิพนธ์ ขนมพื้นบ้าน ขนมไทยโบราณ และสาธิตงานหัตถศิลป์ อาทิ การขึ้นรูปเครื่องประดับ งานเครื่องแขวน งานดอกไม้ประดิษฐ์ การทำหัวโขน เครื่องเบญจรงค์ สินค้า OTOP สมุทรสงคราม นิทรรศการวัตถุดิบท้องถิ่นสมุทรสงคราม ตลาดน้ำ-ตลาดบก ร้านค้าชุมชนสมุทรสงคราม รวมทั้งการจัดแสดงนิทรรศการด้านการเกษตร
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนของกรมส่งเสริมการเกษตรได้ร่วมดำเนินการจัดนิทรรศการด้านการเกษตร ภายใต้แนวคิด “พริกบางช้าง จากวัตถุดิบชาววัง สู่ Soft Power อาหารไทย” ประกอบด้วย 4 ส่วน ดังนี้
1) พริกและสถานการณ์ในประเทศไทย จัดนิทรรศการแสดงพันธุ์พริกที่นิยมปลูกในประเทศไทย เช่น พริกหวาน พริกหยวก พริกหนุ่ม พริกชี้ฟ้า พริกจินดา พริกขี้หนู พริกบางช้าง เป็นต้น รวมถึงข้อมูลพื้นฐาน การใช้ประโยชน์ สถานการณ์ผลิต และการตลาดพริกของประเทศไทย
2) พริกบางช้าง จัดแสดงต้นพริกพันธุ์บางช้างที่ลักษณะพันธุ์ดี ตรงตามสายพันธุ์ และได้รับรางวัลจากการประกวดพริกบางช้าง ประจำปี พ.ศ. 2567 ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2567 ซึ่งพริกบางช้างเป็นพริกพันธุ์ท้องถิ่นของจังหวัดสมุทรสงคราม ที่พบตั้งแต่สมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ 2 ซึ่งอาหารชาววังจะใช้พริกบางช้างเป็นส่วนประกอบ เพราะมีกลิ่นหอม สีสวยสด และรสชาติเผ็ดไม่มากนัก โดยพริกบางช้างแห้งจะมีความเผ็ดเฉลี่ย 2.743 SHU กรมส่งเสริมการเกษตรได้เล็งเห็นความสำคัญจึงได้จัดการประกวดดังกล่าว และนำมาจัดแสดงเพื่อเป็นการอนุรักษ์และประชาสัมพันธ์ให้เป็นที่รู้จักอย่างกว้างขวาง
3) การปรุงอาหารและแปรรูปเพิ่มมูลค่าจากพริกบางช้าง จัดแสดงตัวอย่างการนำพริกบางช้างมาปรุงอาหาร โดยสมาชิกกลุ่มแม่บ้านเกษตรกรผู้ได้รับรางวัล Y.S.Rao Award จากสำนักงานองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค จำนวน 5 เมนู ประกอบด้วย พะแนงหมูโบราณ ไส้กรอกโบราณกับใบชะพลู แกงคั่วหมูกะลามะพร้าว น้ำพริกเผากับผักเคียง และแกงบอนปลาย่าง
4) สนับสนุนต้นกล้าพริกพันธุ์ดี จำนวน 4,000 ต้น เพื่อการส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปสามารถปลูกไว้บริโภคในชีวิตประจำวันได้ และเป็นการขยายพื้นที่ปลูกให้พริกบางช้างไม่สูญหายไป
ทั้งนี้ กรมส่งเสริมการเกษตรขอเชิญชวนผู้สนใจเข้าร่วมงานดังกล่าวได้ระหว่างวันที่ 3 – 4 กุมภาพันธ์ 2567 ณ อุทยาน ร. 2 อำเภออัมพวา จังหวัดสมุทรสงคราม