การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เดินหน้าโครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ไปสู่การเป็น Start up ด้านยางพารา ประจำปี2565 เตรียมผลักดันสู่ธุรกิจยางพารา Start up รุ่นใหม่ พร้อมจ่อเปิดตัวโครงการ Smart Natural Rubber Hackathon หนุนเทคโนโลยี/นวัตกรรมใหม่ๆ สู่วงการยางพาราไทย
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย กล่าวว่า เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ในการสร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันในตลาด ยกระดับราคายางพารา และสร้างความมั่นคงทางรายได้ กยท. ได้ให้การสนับสนุนเกษตรกร/สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบการยาง ในการส่งเสริมให้เกิดการแปรรูปผลิตภัณฑ์จากยางพารา
ภายใต้งบประมาณกองทุนพัฒนายางพารา 49(3) ตามพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทยพ.ศ.2558 ได้จัดโครงการส่งเสริมและพัฒนาเกษตรกรชาวสวนยาง สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง และผู้ประกอบกิจการยาง ไปสู่การเป็น Start up ด้านยางพารา ประจำปีงบประมาณ 2565 (Natural Rubber Startup Acceleration Program: Batch 2 by RAOT and PSU) ซึ่งเป็นการทำงานร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนานวัตกรรมยางพารา มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ เปิดให้ นิสิต นักศึกษา เกษตรกร สถาบันเกษตรกรชาวสวนยาง ผู้ประกอบกิจการยางและผู้สนใจทั่วไปเข้าร่วม เป้าหมายเพื่อให้เกิดการพัฒนาศักยภาพ ต่อยอดงานวิจัย และนวัตกรรมยางพารา ไปสู่เชิงพาณิชย์ และก้าวสู่ภาคอุตสาหกรรมได้อย่างเป็นรูปธรรม
ผู้ว่าการกล่าวเพิ่มเติมว่า กยท. ได้ดำเนินการรับสมัครผู้เข้าร่วมโครงการและคัดเลือกจนได้ 43 ทีม แบ่งออกเป็น 4 ประเภท ดังนี้ Design Contest (I2D) จำนวน 16 ทีม Idea to Prototype (I2P) พัฒนาแนวคิดธุรกิจเพื่อพัฒนาสู่ผลิตภัณฑ์ต้นแบบยางพารา จำนวน 19 ทีม Product to Market (P2M) พัฒนาผลิตภัณฑ์ต้นแบบยางพาราเข้าสู่ตลาด จำนวน 5 ทีม และ Product to Global Market (P2GM) พัฒนาผลิตภัณฑ์ยางพาราที่เพื่อเข้าสู่ตลาดต่างประเทศ จำนวน 3 ทีม
ซึ่งหลังจากนี้จะนำผลงานทั้งหมดที่เกิดจากการบ่มเพาะความรู้ความสามารถและพัฒนาดังกล่าว ไปจัดแสดงนิทรรศการ และจัดกิจกรรม Pitching เพื่อตัดสินสุดยอดผลงานและระดมทุนในการต่อยอดธุรกิจทั้ง4 ประเภท ในวันที่ 9 สิงหาคม 2565 ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
นอกเหนือจากโครงการ Start up ด้านยางพารา ที่ให้กับเกษตรกร สถาบันเกษตรกร และผู้ประกอบกิจการยางพาราได้เข้าร่วมพัฒนานวัตกรรมต่อยอดสู่การทำธุรกิจแล้วนั้น
กยท. เตรียมเปิดตัวโครงการสร้างนวัตกรรุ่นใหม่ด้านยางพารา สำหรับนิสิต นักศึกษา ในระดับอุดมศึกษา ที่สนใจด้านนวัตกรรมเทคโนโลยีในเรื่อง การผลิตวัตถุดิบ การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ที่เกี่ยวข้องกับยางพารา เข้าร่วมคิดค้นและพัฒนา Solution ในการแข่งขัน Smart Natural Rubber Hackathon
โดยมีโจทย์
1.เครื่องมือฉีดพ่นสารเคมี สำหรับต้นยางพาราที่มีความสูง 20 เมตรขึ้นไป
2.เครื่องจักร/อุปกรณ์ สำหรับเกษตรกรชาวสวนยาง เพื่อลดการใช้แรงงาน
3.เครื่องจักร/อุปกรณ์ เพื่อลดการใช้พลังงานในการผลิตวัตถุดิบยาง/ผลิตภัณฑ์ยาง
ซึ่งจะเปิดรับสมัครผู้เข้าร่วมแบบทีม ทีมละ 5 คน และคัดเลือกผลงาน 5 ทีมสุดท้าย มีเงินรางวัลให้ทีมละ100,000 บาท โปรดติดตามรายละเอียดได้ตามช่องทางต่างๆ ของ กยท. เร็วๆ นี้ ผู้ว่าการกล่าวทิ้งท้าย