วันที่ 27 มกราคม นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติสัตว์ป่าและพันธุ์พืช กล่าวว่า ปัญหาเรื่องการทับซ้อนที่ดินระหว่างอุทยานกับพื้นที่ชาวบ้านในพื้นที่ตรงนี้มีมานานแล้ว โดยอุทยานแห่งชาติทับลาน ประกาศเมื่อวันที่ 23 สิงหาคม 2524 เนื้อที่ประมาณ 1,400,000 ไร่ และได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติกลุ่มป่าดงพญาเย็น – เขาใหญ่ เมื่อปี 2548 แต่พื้นที่ ดังกล่าวมีบางส่วนทับซ้อนที่ดินของประชาชนรวมทั้งที่ของส่วนราชการ ตามที่รัฐบาลได้มติคณะรัฐมนตรีให้ ดำเนินการมาในอดีต กรมป่าไม้จึงได้มีการสำรวจรังวัด ฝังหลักเขต เพื่อปรับปรุงแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ให้ตรงตามสภาพข้อเท็จจริง ทั้งในส่วนที่มีการใช้ประโยชน์ในเขตอุทยานแห่งชาติ และในส่วนที่ยังคงมีสภาพป่า แต่อยู่นอกเขตอุทยานแห่งชาติแล้วเสร็จและเป็นที่มาของ ” แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 ” แต่ยังไม่ได้รับการพิจารณาประกาศใช้ให้เป็นไปตามกฎหมาย จึงมีการเรียกร้องจากประชาชนและภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง ให้แก้ไขปัญหาโดยใช้แนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานให้เป็นไปตามแนวเส้นปี 2543
หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมกันแก้ไขปัญหาแนวเขตอุทยานแห่งชาติทับลานมาต่อเนื่อง จนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (สคทช.) ได้นำมติคณะรัฐมนตรี ความเห็นและข้อเสนอแนะของผู้ตรวจการแผ่นดิน แนวนโยบายของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและข้อเท็จจริงที่เกี่ยวข้อง เสนอให้คณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อวันที่ 14 มีนาคม 2566 เห็นชอบแนวทางการใช้เส้นแนวเขตสำรวจ อุทยานแห่งชาติทับลาน ปี 2543 ในการจัดทำแผนที่แนวเขตที่ดินของรัฐแบบบูรณาการมาตราส่วน 1 : 4,000 (One Map) โดยแนวทางแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะไม่ส่งผลกระทบต่อการอนุรักษ์ และจัดการพื้นที่อุทยานแห่งชาติทับลาน รวมทั้งพื้นที่มรดกโลก โดยคำนึงถึงมิติทั้งในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมอันเป็นปัญหาเฉพาะพื้นที่ของอุทยานแห่งชาติทับลาน ที่จะไม่ใช้เป็นบรรทัดฐานในการแก้ไขปัญหาที่ดินในพื้นที่ป่าอนุรักษ์อื่น ๆ แต่อย่างใด
“เรื่องนี้ ผ่านการกลั่นกรองโดยผู้ตรวจการแผ่นดิน-คณะกรรมนโยบายที่ดินแห่งชาติ-ครม.เห็นชอบให้ที่ดินเป็น ส.ป.ก.ไม่ได้ตัดป่าไปเป็น ส.ป.ก.ไม่ได้มีผลต่อกระบวนการยุติธรรมที่ถูกดำเนินคดีซึ่งต้องพิจารณาคุณสมบัติผู้ครอบครองเป็นราย ๆไป และก็ไม่ได้เป็นบรรทัดฐานว่าอุทยานอื่นๆจะเหมือนกันเพราะเงื่อนไขการเข้าไปทำกินต่างกัน”นายอรรถพล กล่าว
อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ กล่าวว่า จริงๆหลายๆคนก็ทราบกันอยู่แล้วว่า พื้นที่ 2 แสนกว่าไร่ตรงนั้น ไม่ใช่พื้นที่ป่าแล้ว แต่มีชาวบ้านเข้ามาอยู่ เป็นเมืองหมดแล้ว เพียงแต่ไม่ได้มีกฏหมายรองรับ ครั้นจะไปใช้กฏหมายอุทยานจัดการ ก็ไม่สามารถทำได้ หลายฝ่ายจึงพยายามแก้ไขปัญหาร่วมกัน ไม่ใช่ใครคนใดคนหนึ่งออกมาสั่งการ แต่มีการแก้โดยคณะกรรมการซึ่งผ่านมาหลายสิบชุด มีกรรมการเป็นร้อยคน
เมื่อถามว่า กรณีนี้จะรวมถึงที่ดินของผู้บุกรุกพื้นที่และอยู่ระหว่างการดำเนินคดีหรือไม่ นายอรรถพล กล่าวว่า ไม่เกี่ยวกัน ในส่วนของการดำเนินคดีสำหรับผู้ที่บุกรุกสร้างรีสอร์ต หรือบ้านพักตากอากาศนั้น ก็ดำเนินคดีต่อไป ทั้งนี้ การให้ที่ดินกับ ส.ป.ก. พื้นที่ก็ยังคงสภาพเป็นที่ดินของรัฐ ยังไม่มีการพูดถึงคนที่จะมาครอบครอง ซึ่งก็จะให้ศาลใช้ดุลยพินิจเป็นรายๆไป
“นี่ไม่ใช่การตัดป่าสองแสนไร่ ที่ผ่านมาที่เราพยายามต่อสู้ก็เพื่อป่าเท่านั้น ไม่ใช่จู่ ๆ เราจะไปยกป่า หรือตัดป่าให้ใครไปง่ายๆ ไม่ใช่อยู่แล้ว”อธิบดีกรมอุทยานฯกล่าว