ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะรัฐมนตรีเกียรติยศประจำ ดร.ฟรังค์-วัลเทอร์ ชไตน์ไมเออร์ (H.E. Dr. Frank-Walter Steinmeier) ประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี และภริยา เดินทาง จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี ผู้บริหารส่วนราชการในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารส่วนราชการจังหวัดอุบลราชธานี และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วม
ในโอกาสนี้คณะท่านประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พร้อมทั้ง รมว.ธรรมนัส และคณะ ได้เยี่ยมชมแปลงเรียนรู้โครงการระบบการผลิตข้าวยั่งยืนบ้านดอนหมู ณ อ.ตระการพืชผล จ.อุบลราชธานี ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยศูนย์เมล็ดพันธุ์ข้าวอุบลราชธานี กรมการข้าว ร่วมกับองค์กรความร่วมมือระหว่างประเทศเยอรมัน (GIZ) และบริษัท โอแลม อะกริ จำกัด (Olam Agri) จัดตั้งโครงการยกระดับการผลิตข้าวที่ยั่งยืนแบบองค์รวม (Inclusive Sustainable Rice Landscape : ISRL) ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนพัฒนาสิ่งแวดล้อมโลก (Global Environment Facility : GEF) โดยมีเป้าหมายเพื่อยกระดับการผลิตข้าวสู่ความยั่งยืน ผ่านแนวทางการวางแผนจัดการพื้นที่แบบบูรณาการ และการเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร อาทิ ข้าวหอมมะลิอุบลราชธานี (Ubon Ratchathani Hommali Rice หรือ Khao Hommali Ubon Ratchathani) ซึ่งเป็นสินค้าภาคเกษตรที่สำคัญของจังหวัดอุบลราชธานี เป็นต้น สำหรับโครงการดังกล่าวมีระยะเวลาดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ. 2566 – 2569 และดำเนินการใน 2 จังหวัดเป้าหมาย ได้แก่ จังหวัดอุบลราชธานี และจังหวัดเชียงราย
จากนั้นคณะท่านประธานาธิบดีแห่งสหพันธ์สาธารณรัฐเยอรมนี พร้อมทั้ง รมว.ธรรมนัส และคณะได้เดินทางเข้าเยี่ยมชมศูนย์ปฏิบัติงานระบบโซลาร์เซลล์ลอยน้ำ ณ ศูนย์ควบคุมการปฏิบัติงานระบบโซลาร์เซลล์ลอยน้ำเขื่อนสิรินธร ซึ่งกระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้มีแนวทางการบริหารจัดการน้ำจากเขื่อนสิรินธรในการอำนวยความสะดวกให้กับพี่น้องเกษตรกรในพื้นที่สำหรับการประกอบกิจกรรมภาคการเกษตร และการอุปโภค-บริโภค
นอกจากนี้ ยังได้เดินทางไปยังอุทยานแห่งชาติผาแต้ม ซึ่งมีจุดเด่นที่สวยงามตามธรรมชาติมากมาย เช่น ผาชัน น้ำตกสร้อยสวรรค์ เสาเฉลียง ถ้ำปาฏิหาริย์ ภูนาทาม เป็นต้น อีกทั้งยังได้มีการค้นพบภาพเขียนสีโบราณ สมัยก่อนประวัติศาสตร์ อายุราว 3,000 – 4,000 ปี ที่บริเวณผาขาม ผาแต้ม ผาเจ็ก ผาเมย และถือได้ว่าเป็นอุทยานแห่งชาติ แห่งแรกในประเทศไทยที่มีแม่น้ำโขง ซึ่งเป็นเส้นกั้นพรมแดนระหว่างประเทศไทยและประเทศลาวเป็นแนวเขตอุทยานแห่งชาติที่ยาวที่สุดอีกด้วย