นายครองศักดิ์ สงรักษา รองอธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร พร้อมด้วยนายกิตติพันธ์ จันทาศรี ผู้อำนวยการกองส่งเสริมโครงการพระราชดำริ การจัดการพื้นที่และวิศวกรรมเกษตร นางสาวนันทวัน ทองเบญญ์ ผู้อำนวยการกลุ่มพัฒนาพื้นที่พิเศษ และเจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่ติดตามงานโครงการรักษ์น้ำเพื่อพระเเม่ของเเผ่นดิน ณ บ้านหมากแข้ง ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ดังนี้
1. เยี่ยมเยียนเเปลงเกษตรกร ของนายศุภเลิศ บุญประสพ อยู่บ้านเลขที่ 9 หมู่ที่ 4 ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย ประธานกลุ่มกิจกรรมไม้ผลไม้ยืนต้นเพื่ออนุรักษ์ดินและน้ำของโครงการฯ โดยเข้าร่วมโครงการเมื่อปี พ.ศ. 2560 ซึ่งมีกิจกรรมหลักในเเปลง คือ การปลูกองุ่นพันธุ์บิวตี้ และพันธุ์ไซมัสคัส การปลูกแตงกวาญี่ปุ่นในโรงเรือนด้วยระบบ Substrate culture รวมถึงการปลูกแก้วมังกร และมะคาเดเมีย ทั้งนี้ เกษตรมีกิจกรรมการเก็บผลผลิตองุ่นด้วยตนเอง ให้นักท่องเที่ยวและผู้เยี่ยมชมสามารถเก็บผลผลิตด้วยตนเอง ในราคากิโลกรัมละ 200 บาท ซึ่งสามารถสร้างรายได้ให้กับเกษตรและเป็นการสนับสนุนการท่องเที่ยวให้ทางจังหวัดเลยได้เป็นอย่างยิ่ง
2. เยี่ยมเยียนแปลงเกษตรกรต้นแบบ ปีที่ 3 ของนางชนิดา กิหมื่น อยู่บ้านเลขที่ 21 หมู่ 4 ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย มีพื้นที่การเกษตร 25 ไร่ ได้แก่ ทำนา 2 ไร่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 10 ไร่ มะคาเดเมีย 8 ไร่ อะโวคาโด 2 ไร่ องุ่นไร้เมล็ด 1 ไร่ ฟักทองญี่ปุ่น 2 ไร่ เเตงกวาญี่ปุ่น 2 ไร่ และผักสลัด 1 ไร่ ปัจจุบันเกษตรกรเป็นสมาชิกกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านหมากแข้งผู้ผลิตพืชอินทรีย์และพืชปลอดภัยโดยดำเนินกิจกรรมปลูกผักในโรงเรือน เช่น สลัดผัก แตงกวาญี่ปุ่น และฟักทองญี่ปุ่น จำหน่ายให้กับบริษัท พลังผัก จำกัด สามารถสร้างรายได้เฉลี่ยปีละ 130,000 บาท
3. เยี่ยมเยียนแปลงเกษตรกรต้นแบบ ของนายอุทัย ราศรีชัย อยู่บ้านเลขที่ 21 หมู่ที่ 4 ตำบลกกสะทอน อำเภอด่านซ้าย จังหวัดเลย เกษตรกรต้นแบบการปลูกไม้ผลไม้ยืนต้น เข้าร่วมโครงการฯ เมื่อปี พ.ศ. 2560 โดยการปรับเปลี่ยนพื้นที่การปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์เป็นไม้ผลไม้ยืนต้น มีพื้นที่ทำการเกษตร 46 ไร่ ได้แก่ มะคาเดเมีย ทุเรียน องุ่น ฟักทองญี่ปุ่น มะม่วงน้ำดอกไม้ โดยเริ่มเก็บผลผลิตไม้ผลเป็นปีที่ 2 ปัจจุบันมีรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตเฉลี่ยปีละ 300,000 บาท
ผลจากการเข้าร่วมโครงการฯ ทำให้เกษตรกรมีความรู้ในการทำการเกษตรที่เหมาะสมกับพื้นที่ สามารถนำความรู้ไปใช้ในการทำการเกษตรของตนเองและถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรทั่วไปที่สนใจที่อยู่อาศัยบนพื้นที่สูง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของต้นไม้ น้ำ และดิน ซึ่งเป็นแหล่งต้นน้ำลำธาร และทำให้เกษตรกรสามารถดำรงชีพอยู่กับป่าได้อย่างเหมาะสมและยั่งยืนเกิดรายได้จากการจำหน่ายผลผลิตเฉลี่ยปีละ 115,000 – 300,000 บาท และมีอาหารบริโภคในครัวเรือนทำให้ลดรายจ่ายในครัวเรือนเฉลี่ยปีละ 3,000 บาท