กรมทรัพย์สินทางปัญญา ดัน “สุราสักทองแพร่” สุราพื้นบ้านชั้นดีและมีชื่อของจังหวัดแพร่ ขึ้นทะเบียน GI รายการใหม่

กรมทรัพย์สินทางปัญญา ลงพื้นที่แหล่งผลิต “สุราสักทองแพร่” ผลักดันขึ้นทะเบียนสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) รายการใหม่ พร้อมหารือผู้เกี่ยวข้อง ขึ้นทะเบียน “ส้มโอขาวน้ำผึ้งเมืองลอง” และ “ส้มเขียวหวานวังชิ้น” ด้วย

65a78d1890dc5
ดัน “สุราสักทองแพร่” สุราพื้นบ้านชั้นดีและมีชื่อของจังหวัดแพร่ ขึ้นทะเบียน GI รายการใหม่

น.ส.กนิษฐา กังสวนิช รองอธิบดีกรมทรัพย์สินทางปัญญา เปิดเผยว่า กรมได้ลงพื้นที่แหล่งผลิต “สุราสักทองแพร่” ซึ่งเป็นสุราพื้นบ้านชั้นดีและมีชื่อของจังหวัดแพร่ เพื่อประเมินว่ากรรมวิธีและกระบวนการผลิตเข้าหลักเกณฑ์และเงื่อนไขในการขึ้นทะเบียนสินค้าสิ่งบ่งชี้ทางภูมิศาสตร์ (GI) ตัวใหม่ของจังหวัดแพร่หรือไม่ และยังได้จัดประชุมระดมความเห็นคนในพื้นที่ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อส่งเสริมสุราพื้นบ้าน และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่องแบบองค์รวม

สำหรับสุรากลั่นจังหวัดแพร่ ผลิตจากข้าวเหนียว หมักด้วยลูกแป้งหัวเชื้อสูตรลับเฉพาะ และใช้น้ำจากแหล่งน้ำธรรมชาติในพื้นที่ รวมถึงน้ำพุร้อน โดยมีผู้ผลิตสุรากลั่นในจังหวัดแพร่กว่า 200 ราย ส่งรายได้ให้แผ่นดินจากการจ่ายอากรแสตมป์สุรากว่า 370 ล้านบาท/ปี และในอนาคตหากสินค้าดังกล่าวสามารถผลักดันขึ้นทะเบียนเป็น GI สำเร็จ จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสุราและสินค้าเกษตรที่เป็นวัตถุดิบได้เพิ่มขึ้น

ทั้งนี้ กรมยังได้ใช้โอกาสนี้ หารือกับผู้ผลิตและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ซึ่งมีแผนที่จะผลักดันการขึ้นทะเบียน GI “ส้มโอขาวน้ำผึ้งเมืองลอง” และ “ส้มเขียวหวานวังชิ้น” ด้วย

โดยจังหวัดแพร่มีสินค้า GI คือ ผ้าหม้อห้อมแพร่ สร้างรายได้ 3,218,000 บาท/ปี โดยบ้านทุ่งโฮ้ง จังหวัดแพร่ เป็นแหล่งผลิตสินค้า “ผ้าหม้อห้อมแพร่” ที่ใหญ่ที่สุด มีการสืบทอดการผลิตจากภูมิปัญญาท้องถิ่นอย่างยาวนาน มีลักษณะเด่นคือเป็นผ้าทอพื้นเมืองหรือเสื้อผ้าที่ผลิตจากเส้นใยธรรมชาติ หรือเส้นใยสังเคราะห์ที่ผ่านกระบวนการย้อมสีธรรมชาติ ทำให้เกิดลวดลายด้วยการมัดย้อม การจุ่ม หรือการพิมพ์ลาย ด้วยภูมิปัญญาการก่อหม้อห้อมที่ใช้ใบและต้นห้อมที่ปลูกในจังหวัดแพร่ ทำให้ผ้าทอและเสื้อผ้าที่ผ่านการย้อมเย็นมีเฉดสีฟ้าถึงสีน้ำเงินเข้ม มีกลิ่นหอมตามธรรมชาติ ซึ่งที่ผ่านมากรมได้มีการส่งเสริมการพัฒนาบรรจุภัณฑ์ให้กับผู้ประกอบการผ้าหม้อห้อมแพร่ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มและตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภค

ปัจจุบันกรมทรัพย์สินทางปัญญาได้ขึ้นทะเบียนสินค้า GI ไทยแล้ว 195 สินค้า ครอบคลุมทุกจังหวัดทั่วประเทศ และยังเดินหน้าผลักดันให้มีการขึ้นทะเบียน GI เพิ่มมากขึ้น เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน Soft Power ซึ่งเป็นนโยบายสำคัญของรัฐบาล