เตือนภัย “ไรแดง” ในมันสำปะหลัง

สภาพอากาศในช่วงนี้อากาศร้อนและมีฝนตกในบางพื้นที่ เตือน “ผู้ปลูกมันสำปะหลัง”ทุกระยะการเจริญเติบโต รับมือ “ไรแดง” ดูดกินน้ำเลี้ยงจากใบ ทำให้ใบเหลืองซีดเป็นจุดประขาวมีผลต่อการเจริญเติบโตและการสร้างหัวของ”มันสำปะหลัง”

“ไรแดง”ที่พบทำลาย“มันสำปะหลัง”มี 3 ชนิด คือ ไรแดงหม่อน ไรแดงมันสำปะหลัง และไรแมงมุมคันซาวา

“ไรแดงหม่อน” (Tetranychus truncatus (Ehara)) ดูดกินน้ำเลี้ยงอยู่ใต้ใบ ทำลายใบแก่และใบเพสลาด พบระบาดตลอดปี หากระบาดรุนแรงจะเคลื่อนย้ายไปกินบนยอดอ่อน สร้างเส้นใยปกคลุมใบและลำต้น เมื่อ “ไรแดงหม่อน”เริ่มทำลายจะเห็นเป็นจุดประขาว ใบเหลืองซีด ใบลู่ลง และเหี่ยวแห้ง หาก“ไรแดงหม่อน”ลงทำลายในมันสำปะหลัง อายุ 1-3 เดือนอาจทำให้ใบร่วง ยอดแห้ง และตายได้

“ไรแดงมันสำปะหลัง” (Oligonychus biharensis (Hirst)) ดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณหน้าใบ ไม่สร้างเส้นใย ทำให้ใบเป็นจุดประสีขาวซีดพบระบาดตลอดปี

ไรแมงมุมคันซาวา” (Tetranychus kanzawai (Kishida)) ดูดกินน้ำเลี้ยงบริเวณใต้ใบ สร้างเส้นใยปกคลุมผิวใบบริเวณที่ไรอาศัยอยู่ พบระบาด เป็นครั้งคราว หากการระบาดรุนแรงมาก จะทำให้ใบไหม้ ขาดเป็นรู โดยเฉพาะบริเวณใกล้เส้นกลางใบทำให้ใบมันสำปะหลังไหม้ทั้งแปลง ใบร่วง และแห้งตาย

278965206 320820156863872 7770328399311680367 n
ไรแดง

แนวทางป้องกัน/แก้ไข

  1. หลีกเลี่ยงการปลูก “มันสำปะหลัง”ในสภาพอากาศแห้งแล้ง
  2. หมั่นตรวจแปลงในช่วงสภาพอากาศแห้งแล้ง ถ้าพบการระบาดของ “ไรแดง” ให้เก็บใบมันสำปะหลังมาทำลาย
  3. อนุรักษ์ศัตรูธรรมชาติในแปลงมันสำปะหลัง เช่น ด้วงเต่าตัวห้ำ Stethorus sp. และไรตัวห้ำ Amblyseius longispinosus (Evans)
  4. ในพื้นที่ที่มีการระบาดอย่างรุนแรง พ่นสารป้องกันกำจัดไร โดยเลือกใช้สารป้องกันกำจัดไรชนิดใดชนิดหนึ่ง ได้แก่ เฮกซีไทอะซอกซ์ 1.8% EC อัตรา 100 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ทีบูเฟนไพแรด 36% EC อัตรา 5-10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไพริดาเบน 20% WP อัตรา 10-15 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ ไซฟลูมิโทเฟน 20% EC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ สไปโรมีซิเฟน 24% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร หรือ เฟนบูทาติน ออกไซด์ 55% SC อัตรา 10 มิลลิลิตรต่อน้ำ 20 ลิตร

พ่นเมื่อพบ “ไรแดง”ทำลายบริเวณใบส่วนยอด และใบส่วนล่างเริ่มแสดงอาการเหี่ยวโดยเฉพาะพืชยังเล็ก พ่นให้ทั่วทั้งต้น ใต้ใบและบนใบ จำนวน 1-2 ครั้ง ห่างกัน 10 วัน

ที่มา สำนักควบคุมพืชและวัสดุการเกษตร