ปศุสัตว์เขต 3 ลงพื้นที่ออกหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ร่วมกับสำนักงานปศุสัตว์ จ.อุบลราชธานี ฉีดวัคซีนป้องกัน และควบคุมโรคลัมปี สกิน (Lumpy skin disease) ในโค-กระบือ อย่างต่อเนื่อง
วันที่ 21 มิถุนายน 2565 สพ.ญ.ขนิษฐา ธิติดิลกรัตน์ ปศุสัตว์เขต 3 ร่วมกับนายกิตติ กุบแก้ว ปศุสัตว์จังหวัดอุบลราชธานี ตรวจติดตามและสนับสนุนการทำงานในพื้นที่จังหวัดอุบลราชธานี โดยประชุมให้ข้อแนะนำ เป็นที่ปรึกษาแก่ทีมงาน
ประกอบด้วยปศุสัตว์อำเภอทุกอำเภอ ด่านกักกันสัตว์อุบลราชธานี เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์อุบลราชธานีเจ้าหน้าที่กลุ่มพัฒนาสุขภาพสัตว์ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมรับฟัง แนวทางการดำเนินงาน ซักถามผ่านระบบ Zoom ด้วย
ในการนี้ปศุสัตว์เขต 3 ในนามประธานมูลนิธิปศุสัตว์พัฒนาได้สนับสนุนวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าสำหรับฉีดในการออกหน่วยผ่าตัดทำหมันในจุดเกิดโรคทั้ง 4 แห่งจำนวน 400 โด๊ส
ต่อจากนั้น ได้ลงพื้นที่ติดตามการทำงานของหน่วยสัตวแพทย์เคลื่อนที่ เร่งฉีดวัคซีนป้องกันและควบคุมโรคลัมปี สกิน พร้อมฉีดวิตามินบำรุงให้แก่สัตว์ ในโอกาสนี้ได้ ประชุมพบปะให้กำลังใจ ให้คำแนะนำในการรักษาสัตว์ป่วยแก่เกษตรกร แจกเวชภัณฑ์ และพ่นยาฆ่าเชื้อและแมลงพาหะภายในคอกสัตว์ ณ ตำบลคูเมือง อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี
ผลการปฏิบัติงาน ประชุมพบปะให้คำแนะนำความรู้เกษตรกร จำนวน 20 ราย ทำวัคซีนป้องกันโรคลัมปีสกินในโคให้แก่เกษตรกร 15 รายเป็นโค 112 ตัว ให้คำแนะนำการรักษาสัตว์ป่วยพร้อมมอบยาแก่เกษตรกรจำนวน 5 ราย รวมทั้งแจกยากำจัดเห็บหมัดแบบกิน และฉีดวัคซีนป้องกันโรคพิษสุนัขบ้าให้กับเกษตรกรด้วย
ขณะที่เมื่อวานนี้ปศุสัตว์อุบลราชธานี ได้ทยอยแจกจ่ายวัคซีนป้องกันโรคลัมปี สกิน(LSD) ให้กับสำนักงานปศุสัตว์อำเภอ ทั้ง 25 อำเภอ ตั้งแต่วันที่ 17 มิถุนายน เป็นต้นมา โดยมีสำนักงานปศุสัตว์อำเภอเดินทางเข้ามาเบิกวัคซีนเอง 15 อำเภอ และอำเภอที่ห่างไกล 10 อำเภอ รวมวัคซีนที่ได้รับมอบจากสำนักงานปศุสัตว์เขต 3 ในรอบนี้ จำนวน 15,900 โด้ส และได้กำชับให้ฉีดวัคซีนตามคำแนะนำของกรมปศุสัตว์อย่างเคร่งครัด
ที่จังหวัดราชบุรี สำนักงานปศุสัตว์อำเภอวัดเพลง พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่จากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นได้แก่ องค์การบริหารส่วนตำบลจอมประทัด ร่วมกันออกปฏิบัติงาน ออกฉีดพ่นยากำจัดแมลง ด้วยครื่องพ่นยาชนิดหมอกควัน (ตามที่ทางปศุสัตว์อำเภอวัดเพลงทำหนังสือขอรับการสนับสนุนไปก่อนหน้านั้น) เพื่อเป็นการฆ่าและกำจัดแมลงดูดเลือด ได้แก่แมลงวัน ยุง เหลือบ ที่อาจเป็นพาหะหลักในการนำเชื้อโรคลัมปี สกิน แพร่กระจายมาสู่ตัวโค และเพื่อเป็นการลดความเสี่ยงที่จะเกิดโรคลัมปี สกิน ขึ้นในพื้นที่ โดยการปฏิบัติงานในครั้งนี้ ได้ดำเนินการในพื้นที่ หมู่ที่ 5,6,7 และ 8 ในตำบลจอมประทัด อำเภอวัดเพลง
นายสัตวแพทย์สรวิศ ธานีโต อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวย้ำว่า กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการควบคุมและป้องกันโรคลัมปี สกินในโคกระบืออย่างเข้มงวดมาโดยตลอด ตั้งแต่ปลายเดือนมีนาคม 2564 ที่มีรายงานพบโรค พร้อมทั้งมีการออกมาตรการในการควบคุมป้องกันโรคแจ้งสั่งการไปยังทุกพื้นที่ให้ดำเนินการอย่างเคร่งครัด การบูรณาการร่วมกับเครือข่ายในพื้นที่ ตามนโยบายของ ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ได้กำชับให้เร่งดำเนินการควบคุมโรคในทุกพื้นที่ หาแนวทางป้องกันการเกิดโรค และเยียวยาช่วยเหลือเกษตรกรผู้เดือดร้อนให้ได้รับผลกระทบน้อยที่สุด