ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการบรรเทาผลกระทบประชาชนและภาคธุรกิจเร่งด่วน 8 มาตรการ โดยมีทั้งมาตรการใหม่ และมาตรการเดิมที่สิ้นสุดอายุลงในเดือนมิถุนายน – กรกฎาคม 2565
ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.)วันนี้ 21 มิถุนายน 2565 เห็นชอบ 8 มาตรการลดค่าครองชีพรอบใหม่ เป็นเวลา 3 เดือน เริ่มตั้งแต่เดือนกรกฎาคม – กันยายน 2565 เพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับประชาชนที่เจอผลกระทบจากปัญหาราคาน้ำมันแพง
โดยมาตรการลดค่าครองชีพรอบใหม่ มีดังนี้
• ตรึงราคาขายปลีกก๊าซ NGV 15.59 บาทต่อกิโลกรัม และให้สิทธิ์ผู้ขับขี่แท็กซี่มิเตอร์ภายใต้โครงการลมหายใจเดียวกัน สามารถซื้อก๊าซ ได้ในราคา 13.62 บาทต่อกิโลกรัมเป็นเวลา 3 เดือนตั้งแต่ 16 มิถุนายน – 15 กันยายน 2565
• กำหนดกรอบการขายปลีก LPG อยู่ที่ 408 บาทต่อถัง
• การให้ส่วนลดซื้อก๊าซหุงต้ม เดือนละ 100 บาท สำหรับผู้ค้าหาบเร่แผงลอยที่ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐและการเพิ่มเงินช่วยเหลือเพื่อซื้อก๊าซหุงต้มสำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 100 บาทต่อเดือน
• การให้ความช่วยเหลือค่าน้ำมันให้กับผู้ขับขี่มอเตอร์ไซค์รับจ้างที่ขึ้นทะเบียนไว้กับกรมการขนส่งทางบกโดยช่วยลดค่าใช้จ่ายน้ำมันแก๊สโซฮอลล์ 250 บาทต่อเดือน
• ขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันคงค่าการตลาดอยู่ที่ 1.40 บาทต่อลิตร
• ขอความร่วมมือโรงกลั่นน้ำมันในการขอให้นำส่งกำไรส่วนต่างที่เกิดจากการกลั่นน้ำมัน ทั้งน้ำมันดีเซลและน้ำมันเบนซิน
• มาตรการภาษีสนับสนุนการท่องเที่ยว เอกชนนำค่าใช้จ่ายท่องเที่ยว อบรม สัมมนา จัดงาน ในเมืองหลักหักภาษีได้ 1.5 เท่า เมืองรองหักภาษีได้ 2 เท่า (ตั้งแต่ 15 กรกฎาคม ถึง 31 ธันวาคม 2565)
• ขอความร่วมมือการประหยัดพลังงานทั้งประชาชน ผู้ประกอบการ และภาคขนส่ง
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า มติคณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการเร่งด่วนเพื่อช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจจากสถานการณ์ราคาพลังงาน 2 ด้าน คือ มาตรการด้านพลังงาน และมาตรการด้านการคลัง
สำหรับมาตรการด้านการคลัง คือ
- มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดอบรมสัมมนาภายในประเทศ ระยะเวลา 15 ก.ค. – 31 ธ.ค. 65 โดยให้หักรายจ่ายค่าห้องสัมมนา ค่าห้องพัก ค่าขนส่งหรือรายจ่ายอื่นที่เกี่ยวข้อง เช่น ค่าอาหาร ค่าเดินทาง ค่าตั๋วเครื่องบิน เป็นต้น หรือค่าบริการของผู้ประกอบธุรกิจนำเที่ยว 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริงสำหรับอบรม สัมมนาในจังหวัดท่องเที่ยวรอง และ 1.5 เท่าสำหรับจังหวัดอื่น ๆ ที่ไม่ใช่จังหวัดท่องเที่ยวรอง
- มาตรการภาษีเพื่อสนับสนุนการจัดนิทรรศการ และงานแสดงสินค้าภายในประเทศ ให้หักรายจ่ายค่าเช่าพื้นที่หรือค่าบริการในการเข้าร่วมงาน ออกร้าน งานนิทรรศการ หรืองานแสดงสินค้าในประเทศ เป็นจำนวน 2 เท่าของรายจ่ายตามที่จ่ายจริง
ส่วนแนวโน้มราคาน้ำมันและราคาสินค้าในตลาดโลก ยังคงอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง ส่งผลให้ระดับราคาสินค้าภายในประเทศมีแนวโน้มที่สูงต่อไป ซึ่งจะส่งผลต่อภาระค่าครองชีพของประชาชนและต่อต้นทุนการดำเนินธุรกิจของผู้ประกอบการโดยตรง รัฐบาลจึงได้มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลามาตรการช่วยเหลือประชาชนและภาคธุรกิจ รวมทั้งมีมาตรการภาษีเพิ่มเติม เพื่อบรรเทาผลกระทบดังกล่าว