เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2566 ที่ผ่านมา ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เดินทางเข้าร่วมรับฟังและมอบนโยบายการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน ในงานเสวนาวิชาการ เรื่อง “เกษตรไม่เผา เธอรัก (ภู) เขา ดาวก็รักเธอ” ภายใต้โครงการสร้างการรับรู้และขยายผลการแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน โดยการมีส่วนร่วมของชุมชน จัดขึ้น ณ อุทยานดาราศาสตร์สิรินธร อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ และถ่ายทอดสดผ่านเฟสบุ๊กแฟนเพจ กรมส่งเสริมการเกษตร โดยได้รับเกียรติจาก ผศ.ดร.สิตางศุ์ พิลัยหล้า ที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เป็นผู้ดำเนินรายการเสวนา
ซึ่งได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิจากหลายสาขาวิชาชีพมาร่วมเสวนานำเสนอประเด็นสำคัญต่าง ๆ ประกอบด้วย
1) ปัญหา/ผลกระทบภาพใหญ่ : ผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมจากปัญหาการเผาวัสดุเหลือใช้การเกษตร (ตอซังและต้นข้าวโพด/ข้าว/อ้อย และอื่น ๆ) และแนวทางการปรับตัวและบรรเทาผลกระทบของเกษตรกรและประชาชน รวมถึงรัฐบาล โดย นายบัณรส บัวคลี่ สภาลมหายใจภาคเหนือ
2) ปัญหาฝุ่นในมุมดาราศาสตร์ : เทคโนโลยีและองค์ความรู้ดาราศาสตร์ กับ ปัญหาฝุ่น PM 2.5 โดย ดร.ศรัณย์ โปษยะจินดา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ
3) ที่มาและแหล่งก่อมลพิษ PM 2.5 : PM 2.5 ในมุมมองทางวิทยาศาสตร์ แนวทางปรับตัวและบรรเทาผลกระทบของมนุษยชาติ โดย ศ.ดร.ศิวัช พงษ์เพียจันทร์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและพัฒนาการป้องกันและจัดการภัยพิบัติ
4) เกษตรกรคิดอย่างไร: ความตระหนักของปัญหาฝุ่น PM 2.5 การปรับตัวและบรรเทาผลกระทบในมุมมองเกษตรกรตัวจริง โดย นายชุมพล กาวิน่าน ประธานศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตรและแปลงใหญ่ลำไย จังหวัดเชียงใหม่
5) จะอยู่ร่วมกันในสังคมอย่างไรดี : การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของเกษตรกร/ชุมชนเกษตรในการแก้ไขปัญหาปรับตัวและบรรเทาผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม โดย นายเดโช ไชยภพ ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน (ภาคเหนือ)
6) บทบาทของกระทรวงเกษตรฯ : การแปลงนโยบายแก้ไขปัญหาไฟป่าและฝุ่นควันสู่การปฏิบัติด้านการเกษตร, การสนับสนุนร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาดของภาคเกษตร โดย นายพีรพันธ์ คอทอง อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร
การป้องกัน แก้ไข ฟื้นฟู รับมือภัยแล้งและภัยพิบัติทางธรรมชาติ ประกอบกับสถานการณ์ฝุ่นละออง PM2.5 มีแนวโน้มที่สูงขึ้น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จึงกำหนดให้มีมาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่เกษตรกรรม ปี 2566/67 โดยแบ่งมาตราการออกเป็น 3 ระยะ
1) มาตรการระยะสั้น ลดการเผาไหม้ในพื้นที่เกษตรกรรม 17 จังหวัดภาคเหนือลดลง ร้อยละ 50 และพื้นที่อื่น ๆ ลดลงร้อยละ 10 และมีการจัดตั้งชุดปฏิบัติการเฝ้าระวังจุดที่มีการเผาเดิม ตรวจสอบพื้นที่ที่พบจุดความร้อน (Hot Spot) สร้างความร่วมมือกับทุกหน่วยงานในสังกัด นอกจากนี้จะให้บริการเครื่องจักรกลช่วยจัดการแปลงหลังการเก็บเกี่ยว สนับสนุนจุลินทรีย์และชีวภัณฑ์
2) มาตรการระยะกลาง ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพืชปลูกจากพืชล้มลุกที่ต้องทำการเผาเศษวัสดุทางการเกษตรเป็นพืชที่มีมูลค่าสูง จัดตั้งศูนย์บริหารเครื่องจักรกลและอุปกรณ์ (Motor Pool) เพื่อลดการเผาวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร
3) มาตรการระยะยาว ส่งเสริมให้เกษตรกรเตรียมพร้อมกับกิจกรรมการผลิตที่ปลอดการเผา มุ่งสู่มาตรฐาน GAP PM2.5 FREE ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดการเผาทุกขั้นตอนตั้งแต่กระบวนการ เตรียมแปลงจนถึงการเก็บเกี่ยวผลผลิต โดยเน้นการบริหารจัดการเศษวัสดุ ซึ่งจะมีมาตรการจูงใจ ทั้งสนับสนุนค่าใช้จ่าย เงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ การคืนหรือลดหย่อนภาษีให้แก่เอกชนที่รับซื้อ จากนโยบายเราหวังว่าจะช่วยแก้ไขปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรอย่างยั่งยืน ร้อยเอกธรรมนัส กล่าวฯ
ทั้งนี้ การเผาวัสดุเหลือใช้การเกษตรเป็นส่วนหนึ่งของปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 ซึ่งยังมีแหล่งกำหนดฝุ่นละออง PM2.5 อื่นๆ อีกที่เกษตรกร และประชาชนทั่วไปต้องรู้และแก้ไขให้ทันการณ์ มีความเข้าใจสาเหตุของปัญหาที่ถูกต้อง รวมถึงการตระหนักว่าการก่อมลพิษมีต้นทุนที่ทุกคนต้องร่วมกันรับผิดชอบ และขอความร่วมมือของทุกคนในสังคมในการสนับสนุน ร่างพระราชบัญญัติอากาศสะอาด ที่จะทำให้เราอยู่ร่วมกันได้อย่างมีสุขภาวะที่ดี มีสภาพแวดล้อมที่สะอาด และมีรายได้พอเพียงต่อการดำรงชีวิต คาดหวังว่าการเสวนาในครั้งนี้จะสามารถสร้างการรับรู้ในวงกว้างและสามารถขยายผลการแก้ปัญหาการเผาในพื้นที่การเกษตรโดยการมีส่วนร่วมของชุมชนได้อย่างยั่งยืนต่อไป