วันที่ 22 ธ.ค.66 ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการจังหวัดแม่ฮ่องสอน ติดตามงานนโยบายของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งรับฟังปัญหา อุปสรรคและแนวทางแก้ไขในการพัฒนาด้านการเกษตรและสหกรณ์ ณ ห้องประชุม ท่าอากาศยานแม่ฮ่องสอน จ.แม่ฮ่องสอน ตลอดจนมอบ สปก. 4-01 ให้กับเกษตรกรอำเภอปางมะผ้า จำนวน 13 ราย และรับฟังปัญหาในพื้นที่ ณ สนามกีฬาจังหวัดแม่ฮ่องสอน ต.ผาบ่อง อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
ร้อยเอก ธรรมนัส เปิดเผยว่า จ.แม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่าตามกฎหมาย ถึงร้อยละ 84 ของพื้นที่จังหวัด ซึ่งที่ตั้งชุมชนและพื้นที่สาธารณะ พื้นที่สำหรับจัดทำโครงสร้างพื้นฐานส่วนใหญ่อยู่ในเขตป่า ทำให้ติดขัดไม่สามารถจัดทำโครงการพัฒนาสิ่งสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ปัญหาหลักของเกษตรกรคือการไม่มีที่ดินทำกินเป็นของตนเอง เพราะส่วนใหญ่พื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยอยู่ในพื้นที่ป่าและเขตอุทยาน นายกรัฐมนตรีจึงมีความห่วงใยพี่น้องเกษตรกร และมอบหมายให้ตนเร่งแก้ปัญหาในเรื่องนี้ เพื่อลดความเหลื่อมล้ำ ยกระดับรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนให้มีความกินดีอยู่ดี โดยได้ประสานกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ขอให้เร่งรัดให้มีการออกหนังสืออนุญาตการใช้ประโยชน์ที่ดินในเขตป่าสงวนอย่างถูกต้อง โดยในส่วนของกระทรวงเกษตรฯ ได้ขับเคลื่อนเดินหน้าเปลี่ยนเอกสารสิทธิ ส.ป.ก.4-01 ให้เป็นโฉนดเพื่อการเกษตร เพื่อเป็นของขวัญปีใหม่ให้เกษตรกรไทย เป็นการช่วยให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน และสามารถพัฒนาการเกษตรของตนได้อย่างเต็มศักยภาพ
”การที่เกษตรกรได้รับการจัดสรรที่ดินทำกินอย่างถูกต้อง จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำ สามารถบริหารจัดการที่ดินให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีการพัฒนาและส่งเสริมอาชีพ ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิต ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานจะต้องบูรณาการทำงานร่วมกัน ทั้งกระทรวงมหาดไทย กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ในการขับเคลื่อนนโยบายรัฐบาลด้านการเกษตรไปสู่การปฏิบัติให้เป็นผลสำเร็จ และการดำเนินโครงการต่างๆ ให้เกิดประสิทธิภาพ และเกิดประโยชน์สูงสุด เพื่อดูแลพี่น้องเกษตรกร ให้อยู่ดีมีสุข มีรายได้อย่างมั่นคง ภาคเกษตรไทยจะต้องแข็งแกร่ง มีศักยภาพการแข่งขันที่ทัดเทียมหรือดีกว่าสินค้าเกษตรต่างประเทศ“ รมว.ธรรมนัส กล่าว
ทั้งนี้ สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก. ) แม่ฮ่องสอน มีแผนงานออกโฉนดเพื่อการเกษตร ปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 จำนวน 678 แปลงเนื้อที่ 1,253 ไร่ ยื่นคำขอแล้ว 383 แปลง (ร้อยละ 56.49)
รมว.ธรรมนัส กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้จังหวัดแม่ฮ่องสอนเป็นพื้นที่มีความห่างไกลและยากลำบาก ทำให้เป็นข้อจำกัดหลายด้าน จึงได้มอบหมายให้สถาบันวิจัยและพัฒนาพื้นที่สูง (สวพส.) สำรวจชุมชน หมู่บ้านที่ยังไม่ได้เข้าถึงโครงการพัฒนาศักยภาพชุมชนบนพื้นที่สูง ให้ได้รับการพัฒนาอาชีพ ส่งเสริมองค์ความรู้ โดยจะผลักดันงบประมาณ สร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้พี่น้องชาวแม่ฮ่องสอนโดยเฉพาะกลุ่มชาติพันธุ์ได้มีความมั่นคง และเข้มแข็งในอาชีพเกษตรต่อไป
นอกจากนี้ ด้านการบริหารจัดการน้ำเป็นเรื่องสำคัญ ได้มอบหมายให้กรมชลประทาน โดยสำนักงานชลประทานที่ 1 รวบรวมแผนบริหารจัดการน้ำทั้ง 7 อำเภอ ตลอดจนสำรวจประตูระบายน้ำ ซ่อมแซมหากเกิดการชำรุด และสำรวจความจำเป็นในการสร้างประตูระบายน้ำ เพื่อให้มีน้ำเพียงพอสามารถเก็บน้ำไว้ในสำหรับอุปโภค บริโภค และเพื่อการเกษตร
จังหวัดแม่ฮ่องสอน มีพื้นที่ประมาณ 7.9 ล้านไร่ พื้นที่ภาคการเกษตร 363,156 ไร่ หรือร้อยละ 4.5 หของพื้นที่จังหวัด มีครัวเรือนที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกร จำนวน 43,460 ครัวเรือน พื้นที่ได้รับผลประโยชน์จากโครงการชลประทาน 145,576 ไร่ พืชเศรษฐกิจหลัก ได้แก่ ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ กระเทียม ข้าวนาปี ถั่วเหลือง และกาแฟ