ภายในอาคารแห่งหนึ่งย่านชานเมืองนครเฉิงตู มณฑลซื่อชวน (เสฉวน) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของจีน หุ่นยนต์ 16 ตัวถูกติดตั้งโปรแกรมให้คอยดูแลพืชผักที่เพาะปลูกบนชั้นวางแนวตั้งในเรือนกระจก จำนวน 20 ชั้น ความสูงรวม 10 เมตร ทำให้เป็นฟาร์มแบบไร้มนุษย์ควบคุมที่สูงที่สุดในโลก
หยางฉีฉาง หัวหน้านักวิทยาศาสตร์ของฟาร์มในเมืองแห่งนี้ กล่าวว่า ผัก 24,000 ต้นถูกเพาะปลูกในพื้นที่ 200 ตารางเมตร
โดยโรงงานเพาะปลูกดังกล่าวสร้างขึ้นที่สถาบันเกษตรกรรมเขตเมือง (IUA) สังกัดสถาบันวิทยาศาสตร์การเกษตรจีน (CAAS) ขั้นตอนการเพาะปลูกเป็นแบบอัตโนมัติทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นการหว่าน การตัดขยายระยะ การเก็บเกี่ยว และการบรรจุหีบห่อ
หากปลูกในทุ่งเปิดโล่ง ทั่วไปแล้วผักกาดหอมจะใช้เวลาเจริญเติบโตราว 70 วัน ตั้งแต่เพาะเมล็ดจนถึงเก็บเกี่ยว แต่หากปลูกที่ฟาร์มในเมืองแห่งนี้ ระยะเวลาการเจริญเติบโตอาจสั้นเหลือราว 35 วัน ทำให้ออกผลผลิตถึง 10 ครั้งต่อปี และคาดว่าผลผลิตต่อปีอาจสูงถึง 50 ตัน
โภชนาการของพืชผักไม่ได้รับผลกระทบแม้เติบโตอย่างรวดเร็วและให้ผลผลิตสูง โดยปริมาณโปรตีนดิบของอัลฟัลฟา (alfalfa) พืชตระกูลถั่วขนาดเล็ก ที่ปลูกโดยตัวเร่งการปรับปรุงพันธุ์พืชนั้นสูงถึงร้อยละ 30 ซึ่งสูงกว่าโปรตีนของอัลฟัลฟาสายพันธุ์ปกติราว 10 จุด
ถั่วอัลฟัลฟาสามารถเก็บเกี่ยวได้ทุกๆ 12 วัน และมีผลผลิตเพิ่มขึ้นมากกว่า 20 เท่า เมื่อเทียบกับปริมาณการเก็บเกี่ยวสูงสุดตามธรรมชาติที่ 4 ครั้งต่อปี
หวังเซิน นักวิจัยประจำสถาบันเกษตรกรรมฯ ระบุว่าผักเติบโตได้เร็วและดี ความลับสำคัญอยู่ที่การจัดแสงเสริม (fill light) หรือไฟแอลอีดี (LED) ที่อยู่เหนือผัก พร้อมเสริมว่าเราค้นหา “สูตรแสง” ที่เหมาะสมที่สุดด้วยการปรับเปลี่ยนแหล่งกำเนิดแสงในช่วงการเจริญเติบโตที่แตกต่างกันของพืช
ช่วงสามปีที่ผ่านมา นักวิทยาศาสตร์สร้างสูตรแสงแบบกำหนดเอง มากกว่า 1,300 สูตร สำหรับพืชผัก 72 ชนิด อาทิ ข้าว ข้าวสาลี และข้าวโพด
นอกจากนั้น นักวิทยาศาสตร์ของสถาบันเกษตรกรรมฯ สามารถเก็บเกี่ยวองุ่นคุณภาพสูงที่ให้ผลผลิตสูงด้วยการเพาะปลูกแบบจำกัดราก และการควบคุมน้ำและปุ๋ยที่แม่นยำ เพื่อสร้างและปลูกผักผลไม้จำนวนมากขึ้นภายในพื้นที่ที่อยู่อาศัยในเมืองที่มีอยู่จำกัด
หวัง ระบุว่า ปกติแล้วชั้นวางสำหรับปลูกต้นไม้จะถูกติดตั้งไว้ 5 ชั้นเนื่องจากความเสี่ยงด้านความปลอดภัย แต่ระบบหุ่นยนต์ในโรงงานอัจฉริยะดังกล่าวทำงานเพื่อเอาชนะข้อจำกัดนี้ได้ โดยสำหรับในเมืองที่มีประชากรหนาแน่น โรงงานผลิตพืชสามารถเติมเต็มอุปทานผักประจำวันของเมือง และปรับปรุงความสามารถการพึ่งพาตนเองในเมืองด้วย
นอกจากนั้น เทคโนโลยีเรือนกระจกแนวตั้งยังสามารถนำไปประยุกต์ใช้ในสถานการณ์ต่างๆ เช่น การลาดตระเวนชายแดน การสำรวจทางวิทยาศาสตร์ และการใช้ชีวิตบนเกาะ
สำหรับขั้นต่อไป นักวิทยาศาสตร์จะปรับปรุงโรงงานอัจฉริยะแห่งนี้ด้วยการบูรณาการการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำและการเพาะเห็ดราที่กินได้ในพื้นที่แนวตั้ง ตลอดจนสำรวจต้นแบบการทำเกษตรบนดาดฟ้าและระเบียงแบบใหม่
ขอบคุณข้อมูล/ภาพ จาก : สำนักข่าวซินหัว(Xinhua)