ร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยภายหลังเป็นประธานพิธีปล่อยขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์ เพื่อส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรไปยังนครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน สหพันธรัฐรัสเซีย และสหภาพยุโรป ณ สถานีรถไฟมาบตาพุด จังหวัดระยอง โดยมีศาสตราจารย์นฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี ทำหน้าที่ผู้แทนการค้าไทย พร้อมด้วยนายประยูร อินสกุล ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายเศรษฐเกียรติ กระจ่างวงษ์ รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ นายพีรพันธ์ คอทอง รองปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้องร่วมเป็นสักขีพยาน ว่า จากนโยบายกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่ต้องการขับเคลื่อนการเปิดขยายตลาดสินค้าเกษตรในต่างประเทศ เพื่อช่วยเหลือพี่น้องเกษตรกรในการเพิ่มโอกาสทางการค้า ขยายช่องทางจำหน่ายผลผลิตทางการเกษตร รวมทั้งส่งเสริมให้สินค้าเกษตรไทยสามารถเข้าสู่ตลาดการค้าต่างประเทศได้มากขึ้น
“ขบวนรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์นี้” จึงถือเป็นการส่งเสริมการค้าสินค้าเกษตรจากประเทศไทยไปยังนครเฉิงตู ซึ่งจะช่วยขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภค ผ่านระบบการขนส่งทางรางที่รวดเร็วและประหยัดค่าใช้จ่ายมากกว่าการขนส่งทางเรือ โดยเป็นความร่วมมือระหว่างกระทรวงเกษตรฯ โดยองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) กรมส่งเสริมสหกรณ์ กับภาคเอกชน ได้แก่ บริษัท Global Multimodal Logistics (GML) ซึ่งเป็นบริษัทในกลุ่ม ปตท. ที่ดำเนินธุรกิจด้านโลจิสติกส์ครบวงจร และบริษัท แพน-เอเชีย ซิลด์โรด จำกัด (PAS) ซึ่งเป็นบริษัทที่ดำเนินธุรกิจขนส่งสินค้าผ่านระบบราง ความร่วมมือระหว่างภาครัฐและเอกชนที่เกิดขึ้นนี้มีเป้าหมายเพื่อขับเคลื่อนภารกิจของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ยกระดับเศรษฐกิจของประเทศ โดยจะดำเนินการส่งสินค้าเกษตรผ่านระบบการขนส่งทางรถไฟไทย-จีน ซึ่งสอดรับกับโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ One Belt One Road (OBOR) หรือ แถบเศรษฐกิจเส้นทางสายไหมทางบกของจีน ที่ผลักดันการเชื่อมโยงและเส้นทางการค้าระหว่างประเทศสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วโลก
สำหรับรถไฟเที่ยวปฐมฤกษ์นี้ได้จัดส่งสินค้าเกษตรนำร่อง ได้แก่ ข้าวหอมมะลิ ทุเรียนแช่แข็ง และยางพารา ซึ่งจะเดินทางถึงสถานีเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีน ในวันที่ 15 ธันวาคม 2566 และเดินทางต่อเนื่องไปยังสหพันธรัฐรัสเซีย และสาธารณรัฐโปแลนด์ตามลำดับ
“การขยายตลาดส่งออกสินค้าเกษตรและสินค้าอุปโภคบริโภคผ่านระบบการขนส่งทางรางไปยังนครเฉิงตู สาธารณรัฐประชาชนจีนซึ่งเป็นตลาดที่มีศักยภาพ จะสามารถเพิ่มมูลค่าผลผลิตภาคการเกษตรให้เติบโตอย่างสมดุลและมีเสถียรภาพ รวมถึงเพื่อเสริมศักยภาพในการแข่งขันด้านการเกษตรต่างประเทศให้ทัดเทียมหรือก้าวนำคู่แข่งทางธุรกิจ เพื่อสร้างความมั่นคงและยั่งยืนของภาคการเกษตรไทย ตามนโยบายรัฐบาลอีกด้วย” รัฐมนตรีเกษตรฯ กล่าว