นางนฤมล ภิญโญสินวัฒน์ ผู้แทนการค้าไทย เปิดเผยว่า เตรียมหารือกับกระทรวงการคลัง หลังหารือวิธีการทำงานกับบริษัท ทีอาร์ซี คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRC ผู้ถือหุ้นใหญ่ บริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) เกี่ยวกับรูปแบบในการทำงาน และวิธีการซื้อโปแตสเซียมคลอไรด์ หลังจากบริษัทสามารถขุดได้ และ สามารถขายให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในราคาส่วนลด 10% ในสัดส่วน 10% ของปริมาณการผลิตโปแตสฯของบริษัท และส่วนลด 7% ในส่วนที่มากกว่า 10% ของปริมาณการผลิต
ทั้งนี้ ในการหารือได้พูดคุยกันไปถึงการใช้หนี้ให้กับรัฐบาล การเพิ่มทุน และสัดส่วนการถือหุ้นของบริษัทที่มีรัฐบาลไทย โดยกระทรวงการคลังถือหุ้นในสัดส่วนไม่ต่ำกว่า 20%, TRC ถือหุ้นสัดส่วน 25% และที่เหลือถือหุ้นโดยรัฐวิสาหกิจของอาเซียน 4-5 ประเทศ เมื่อต้นปี 2566 มีการเพิ่มทุนจากผู้ถือหุ้นเดิม รวมถึงกระทรวงการคลัง วงเงิน 450 ล้านบาท และต้นปี 2567 จะเพิ่มทุนอีก 40,000 ล้านบาท โดยจะเป็นทั้งการกู้สถาบันการเงินและระดมทุนจากผู้ถือหุ้นเก่าและผู้ถือหุ้นใหม่ที่สนใจ
”ในการหารือกันกับบริษัท TRC ได้มีการพูดไปถึงการดำเนินการในเรื่องของผู้รับซื้อปุ๋ยจากบริษัท อาเซียนโปแตชชัยภูมิ จำกัด (มหาชน) น่าจะเป็นองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร (อ.ต.ก.) หน่วยงานของภาครัฐรับซื้อเพื่อนำไปกระจายต่อให้กับเกษตรกร ซึ่งบริษัทอาเซียนฯจะต้องตั้งโรงงานผสมปุ๋ยตามที่กระทรวงเกษตรฯต้องการตามสูตรที่เกษตรกรแต่ละประเภทใช้ และหลังจากหารือกันจะดำเนินการร่างวิธีการทำงาน นำหารือกับฝ่ายกฎหมาย ก่อนนำหารือกระทรวงการคลังพิจารณาต่อไป”
นางนฤมล กล่าวต่อว่า ภาคเกษตรไทยใช้ปุ๋ยประมาณ 5 ล้านตันต่อปี ขณะที่โครงการเหมืองโปแตสฯ รวมถึงมติ ครม.ที่กำหนดให้บริษัทต้องขายโปแตสฯให้กับกระทรวงเกษตรฯ จะทำให้ภาคเกษตรที่นำเข้าปุ๋ยประมาณปีละ 15,000 ล้านบาท สามารถลดต้นทุนการนำเข้าและลดต้นทุนในเกษตรกรได้ประมาณ 15% และเมื่อต้นทุนการผลิตลดลง ก็จะทำให้รายได้ของเกษตรกรเพิ่มขึ้นได้ตามนโยบายเพิ่มรายได้ให้เกษตรกร 3 เท่า