นายอนุสรณ์ ธรรมใจ กรรมการวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอดีตกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ สภาวิจัยแห่งชาติ สาขาเศรษฐศาสตร์ แสดงความเห็นถึง นโยบายกัญชาเสรี ว่า แม้นโยบาย”กัญชาเสรี“จะเปิดโอกาสให้มีการใช้สารสกัดจาก “กัญชา”ในทางการแพทย์และเพื่อความจำเป็นทางสุขภาพได้ง่ายขึ้น เป็นประโยชน์ต่อคุณภาพชีวิตและการรักษาผู้เจ็บป่วยที่จำเป็นต้องใช้ “สารสกัดจากกัญชา” แต่หากต้องการให้สามารถใช้ “กัญชา” ในการผสมอาหาร เครื่องดื่มและใช้เสพเพื่อสันทนาการแล้ว เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณาผลดีผลเสียอย่างละเอียดรอบคอบ
มีการคาดการณ์ว่า ตลาดกัญชาเพื่อการแพทย์ทั่วโลก อาจมีมูลค่าสูงถึง 1.9-2.1 ล้านล้านบาท ภายในปี ค.ศ. 2025 การทำให้“กัญชา”เป็นสิ่งที่ถูกกฎหมายว่าเป็นสิ่งที่ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรช่วยกำหนดแนวทางที่เหมาะสมว่า อะไรคือประโยชน์สูงสุดต่อสังคม คุณภาพชีวิตของผู้คนและเศรษฐกิจ
อย่างไรก็ตามมีผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมติดตามมามากเช่นเดียวกันหลังจากให้ใช้ “กัญชาเพื่อสันทนาการ” ได้ “อุตสาหกรรมกัญชา”ถูกกฎหมายจะสร้างรายได้กว่า 40,000 ล้านดอลลาร์ และสร้างงานกว่า 400,000 ตำแหน่งในสหรัฐฯ รัฐบาลสามารถเก็บภาษีได้ 4,000 ล้านดอลลาร์ ภายใน 3 ปีที่ผ่านมา
รวมถึงอุตสาหกรรมกัญชาเป็นธุรกิจใหญ่ที่นำรายได้มหาศาลเข้าสู่แคนาดามานับทศวรรษหลังมีการอนุญาตให้นำกัญชามาใช้รักษาโรคได้ตลอด 20 ปีที่ผ่านมาโดยมีบริษัทผลิตและจำหน่ายกัญชารายใหญ่ 2 บริษัทซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกกัญชาเชิงพาณิชย์ที่ใหญ่ที่สุดในโลกรองรับการเปิดกว้างมากขึ้นในการใช้กัญชา
การเสพกัญชาอย่างถูกกฎหมายอาจช่วยกระตุ้นการท่องเที่ยวได้ เช่น ในประเทศเนเธอร์แลนด์ที่มีชื่อเสียงด้าน“การเสพกัญชาถูกกฎหมาย” นำมาสู่การดึงดูดนักท่องเที่ยวที่ต้องการเสพกัญชาช่วยผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวในประเทศให้เติบโต
อย่างไรก็ตาม หากมีการเสพกัญชาเพื่อสันทนาการได้อย่างถูกกฎหมาย และไม่สามารถกำกับให้ดีพอ มีการแพร่ระบาดจนไม่สามารถควบคุมได้ มีการเสพเกินขนาดแล้วเกิดปัญหาทางด้านสุขภาพย่อมมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและครอบครัวของผู้เสพและแน่นอนย่อมส่งผลกระทบทางสังคมและเศรษฐกิจอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงจำเป็นต้องมีการศึกษาวิจัยให้รอบคอบก่อนจะเปิดให้กัญชาเป็นสิ่งที่ถูกกฎหมาย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเปิดให้มีการเสพกัญชาเพื่อสันทนาการ
สำหรับกรณีของประเทศไทยเนื่องจากประเทศเรามีปัญหาในการบังคับใช้กฎหมาย หากการบังคับใช้กฎหมายไม่ดี การกำกับควบคุมไม่ดีอาจนำมาสู่ผลเสียหายทางเศรษฐกิจ สังคมและสุขภาพมากกว่าผลดี ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและมูลค่าทางเศรษฐกิจ
เมื่อทำให้ “กัญชา” เป็น “พืชเศรษฐกิจ” ทั้งทางด้านการค้าและการผลิตอาจมีมูลค่าเบื้องต้นในไทยอยู่ในระดับหมื่นล้านบาททีเดียว ผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจดังกล่าว อาจไม่คุ้มค่ากับความเสียหายทางด้านสุขภาพค่าใช้จ่ายทางด้านรักษาพยาบาล การถดถอยลงของผลิตภาพการผลิตของแรงงานและปัญหาทางเศรษฐกิจและสังคมอื่น ๆ ที่จะติดตามจากการปล่อยให้ มีการใช้ “กัญชา” เป็นส่วนผสมในอาหาร เครื่องดื่ม หรือ เสพเพื่อสันทนาการ การศึกษาวิจัยผลกระทบจาก”นโยบายกัญชาเสรี” ยังมีอยู่ไม่มาก
แต่งานวิจัยเท่าที่มีอยู่ในประเทศที่มีนโยบายกัญชาเสรีและเปิดให้มีการใช้กัญชาเพื่อการสันทนาการและเพื่อการบริโภคบ่งชี้ไปในทิศทางเดียวกันว่า “ได้ไม่คุ้มเสีย” หากมีระบบการกำกับควบคุมการใช้ไม่ดีพอประเทศส่วนใหญ่จึงไม่มีนโยบาย”กัญชาเสรี” และหากจะเปิดเสรีก็จะจำกัดให้ใช้ในทางการแพทย์และประโยชน์ทางด้านสุขภาพเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อสันทนาการไม่ใช่เพื่อนำไปผสมในเครื่องดื่มหรืออาหาร ซึ่งก่อให้เกิดการเสพติดและเป็นอันตรายต่อสุขภาพในระยะยาว หลายประเทศหรือหลายสังคมก็ไม่สนับสนุนนโยบายนี้ด้วยเหตุผลทางศาสนาและเหตุผลทางด้านศีลธรรมจรรยา
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม หากต้องการเดินหน้านโยบาย กัญชาเสรี ต่อไปต้องมีระบบ กลไกมาตรการและแนวทางในการควบคุม “กัญชา”ซึ่งถือเป็นสินค้าบริการที่เป็นภัยต่อสุขภาพและส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระยะสั้น ระยะปานกลางและระยะยาว การที่กระทรวงสาธารณสุขมีการประกาศให้ “กัญชา” เป็น “สมุนไพรควบคุม” ก็เป็นเรื่องที่ควรกระทำอย่างยิ่ง
สินค้าบริการที่เป็นภัยต่อสุขภาพ (Hazardous Commodities) อันได้แก่ ฝิ่น (เคยถูกกฎหมาย) กัญชา ยาสูบ (บุหรี่) สุรา และสารเสพติดทั้งหลาย นักเศรษฐศาสตร์สุขภาพพิจารณาว่าสินค้าที่เป็นภัยต่อสุขภาพเหล่านี้เป็นสินค้าที่หากมีการซื้อขายในตลาดจะเพิ่มความเสี่ยงต่อการเจ็บป่วยหรือความตายในอนาคต รวมทั้งความเสี่ยงในด้านอื่น ๆ ทั้งปัญหาสังคม ปัญหาอาชญากรรม ปัญหาเด็กและเยาวชน ปัญหาสุขภาพ ปัญหาผลิตภาพแรงงานลดลง
สินค้าที่เป็นภัยต่อสุขภาพนี้ มักมีลักษณะดังนี้
ประการแรก เป็นสินค้าที่มีขายในท้องตลาด แต่มีการจำกัดอายุและการเข้าถึงเพื่อเสพหรือบริโภค สังคมหรือประเทศไหนที่มีการบังคับใช้กฎหมายหย่อนยาน เจ้าหน้าที่ของรัฐทำงานแบบหละหลวมและมีการทุจริตติดสินบนง่าย สังคมนั้นไม่ควรให้เปิดให้มีการซื้อขายในท้องตลาดทั่วไป
ประการที่สอง ผลการบริโภคหรือเสพสินค้าอาจไม่เกิดผลต่อสุขภาพหรือชีวิตในทันทีทันใดก็ได้ ตลอดจนอาจมีความไม่แน่นอนของผลที่เกิดขึ้นขึ้นอยู่กับสภาพร่างกายของผู้เสพหรือบริโภค ทำให้รัฐเข้าควบคุมยาก แต่มีงานวิจัยชี้ชัดว่า กัญชา ยาสูบ สุรา มีผลต่อสุขภาพและพัฒนาการของเด็กและเยาวชนอย่างมากและมีผลระยะยาว ทำให้คุณภาพโดยเฉลี่ยของประชากรด้อยลง กรณีนี้รัฐสามารถใช้ผลงานวิจัยไปเป็นหลักฐานสนับสนุนการควบคุมและแทรกแซงตลาดสินค้าเหล่านี้อย่างเข้มงวด แต่ปัญหาจะอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมาย
นายอนุสรณ์ กล่าวอีกว่า สินค้าที่เป็นภัยต่อสุขภาพ เช่น ยาสูบและบุหรี่ ก่อให้เกิดมะเร็งปอด โรคหัวใจ โรคเส้นเลือดตีบ โรคความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ ขณะที่สุรา ก่อให้เกิดโรคตับแข็ง โรคความดันโลหิตสูงและเป็นตัวกระตุ้นในให้เกิดโรคอื่น ๆ อีกมากมาย ทำให้เกิดอุบัติเหตุ ความรุนแรงและอาชญากรรม
ส่วนกรณีของ กัญชา หรือสารสกัดจากกัญชา ภาวะพิษจากกัญชานั้นเกิดขึ้นได้สองรูปแบบ คือ ภาวะพิษเฉียบพลัน หากได้รับสารพิษเกินขนาดอาจถึงเสียชีวิตได้ ขณะนี้ยังไม่มียาต้านพิษจำเพาะ ภาวะพิษเรื้อรังมักมีการเสพกัญชาเป็นยาเสพติด ส่วนใหญ่เป็นผลเสียหายต่อระบบสมองและจิตประสาทเป็นส่วนใหญ่ การสูบกัญชาร่วมกับบุหรี่ไฟฟ้า ทำปอดอักเสบเฉียบพลันและมีอันตรายมากถึงเสียชีวิตได้ การใช้และเกิดผลในระยะยาวนั้น ยังไม่มีการทำวิจัยหรือเก็บข้อมูลมากเหมือนกรณียาสูบหรือบุหรี่ เพื่อป้องกันผลกระทบทางลบต่อคุณภาพชีวิตของประชาชนโดยสุขภาพของเด็กและเยาวชน
ผลกระทบเสียหายทางเศรษฐกิจและความถดถอยของผลิตภาพแรงงาน รัฐบาลต้องมีแนวทางหรือมาตรการเพื่อกำกับควบคุมการใช้กัญชาเพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และสุขภาพเท่านั้น หากต้องการเปิดให้มีการเสพหรือบริโภค ต้องมีมาตรการหรือแนวทางดังนี้
มาตรการที่หนึ่งต้องเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราสูง และนำเงินบางส่วนไปใช้ในการส่งเสริมสุขภาพประชาชน และเผยแพร่ให้เกิดความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้องในการใช้ประโยชน์จากสารสกัดจากกัญชา
มาตรการที่สอง ต้องมีการกำหนดอายุขั้นต่ำของผู้ซื้อหรือเสพกัญชา อย่างต่ำต้องอายุ 25 ปีขึ้นไป
มาตรการที่สาม ห้ามไม่ให้มีการโฆษณาใด ๆ รวมทั้ง โฆษณาแฝงในผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับสารสกัดจากกัญชาที่มีผลเสียต่อสุขภาพ
มาตรการที่สี่ การกำหนดให้มีคำเตือนถึงภัยและผลกระทบจากเสพสารสกัดจากกัญชาเผยแพร่ข้อมูลประโยชน์และโทษของกัญชา
มาตรการที่ห้า การบังคับให้ผู้ประกอบการหรือผู้ขายต้องเปิดเผยส่วนผสมของกัญชาในอาหาร หรือ เครื่องดื่ม อย่างชัดเจน
มาตรการที่หก กำหนดพื้นที่และเวลาสำหรับเป็นเขตปลอดกัญชา
มาตรการที่เจ็ด จำกัดการนำเข้าและส่งออกกัญชาและผลิตภัณฑ์กัญชา ยกเว้นการใช้เพื่อประโยชน์ทางการแพทย์และการผลิตยารักษาโรคเท่านั้น
นายอนุสรณ์ เปิดเผยอีกว่า นักเศรษฐศาสตร์สุขภาพได้ประเมินผลของการควบคุมต่าง ๆ ต่อสินค้าบุหรี่ สุรา กัญชา ที่มีต่อการเกิดโรคภัยไข้เจ็บที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคหรือเสพสิ่งเหล่านี้ ด้วยการประเมินออกเป็นสองส่วนสำคัญ
ส่วนแรก คือ การศึกษาผลของการควบคุมที่มีต่อการบริโภคใช้การวิเคราะห์อุปสงค์โดยเฉพาะค่าความยืดหยุ่นของอุปสงค์ต่อราคา ต่อระดับรายได้
ส่วนที่สอง การศึกษาถึงความสัมพันธ์ระหว่างการลดลงการบริโภคกับการลดลงของการเจ็บป่วยหรือศึกษาความสัมพันธ์ที่มีต่อสุขภาพและความยืนยาวของชีวิต ส่วนกรณีกัญชานั้น งานวิจัยล่าสุดจะศึกษาถึงผลของเปิดกัญชาเสรีต่อผลิตภาพแรงงาน ค่าใช้จ่ายทางด้านสุขภาพ ผลประโยชน์และความเสียหายทางเศรษฐกิจและสังคม
จากข้อมูลขององค์การอนามัยโลก ยาสูบเป็นสาเหตุของการตายด้วยโรคมะเร็งปอด โรคทางเดินหายใจ โรคหัวใจปีละ 4-5 ล้านคนทั่วโลก ขณะที่สุราเป็นต้นเหตุของการตายด้วยโรคมะเร็งตับ โรคตับแข็ง โรคอุบัติเหตุทางจราจรปีละ 2-3 ล้านคน
ส่วน“กัญชา”ซึ่งเป็นสินค้าผิดกฎหมายในประเทศส่วนใหญ่ การเสพจึงเป็นเรื่องพฤติกรรมหลบเลี่ยงกฎหมาย จึงไม่มีเก็บสถิติข้อมูลเอาไว้ ส่วนประเทศที่ประกาศให้ กัญชา เป็นสินค้าถูกกฎหมายภายใต้การควบคุม ผู้ที่เสียชีวิตจากโรคอันเป็นผลจากการเสพกัญชาเกินขนาดยังไม่มากในปัจจุบัน แต่เชื่อว่า จะเพิ่มขึ้นมากในอนาคตโดยเฉพาะผลต่อพัฒนาการทางสมอง ความผิดปรกติทางจิตของคนรุ่นต่อไป
ปัจจุบัน สหรัฐอเมริกามีมลรัฐที่มีเปิดเสรีกัญชาเพียง 19 รัฐเท่านั้น มีบางประเทศบางเมืองในละตินอเมริกาและยุโรปเปิดให้มีการเสพกัญชาเพื่อสันทนาการหรือใช้ในเครื่องดื่มและอาหาร และกรณีของสหรัฐอเมริกายังเป็นนโยบายที่มีความเห็นต่างค่อนข้างมากในกลุ่มผู้กำหนดนโยบายทั้งพรรครีพับรีกันและพรรคแดโมแครต รวมทั้งเป็นประเด็นสำคัญในการหาเสียงเลือกตั้ง
จากงานวิจัยพบว่า หลังการเปิดเสรีกัญชาในบางรัฐของสหรัฐอเมริกามุมมองต่ออันตรายของกัญชาเปลี่ยนแปลงไป คือเห็นว่า กัญชาไม่มีอันตรายและสังคมยอมรับมากขึ้น จึงมีเด็กและเยาวชนมากกว่า 37% เคยทดลองสูญกัญชา และ 22% ยังคงสูบอยู่ ซึ่งส่งผลต่อการเจริญเติบโตของร่างกายและพัฒนาของสมองและระบบประสาท นอกจากนี้มีความสัมพันธ์ชัดเจนมากขึ้นระหว่าง ปัญหาสังคม อาชญากรรม การเกิดอุบัติเหตุกับการเสพกัญชา
ส่วนผลต่อการลดลงของผลิตภาพแรงงานนั้นมีความแตกต่างกันไปตามช่วงอายุของแรงงาน คือแรงงานหนุ่มสาว ผลิตภาพลดลงอย่างชัดเจน แรงงานสูงวัย ผลที่มีต่อผลิตภาพยังไม่ได้ข้อสรุปชัดเจน
การใช้กัญชายังส่งผลต่อความปลอดภัยในสถานที่ทำงานและสังคมลดลงเช่นเดียวกับการบริโภคสุรา ขณะที่ค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาความเจ็บปวดเรื้อรังลดลงในมลรัฐที่เปิดเสรีกัญชา เพราะประชาชนสามารถเข้าถึงการรักษาความเจ็บป่วยเรื้อรังดัวยตัวเอง โดยไม่ต้องอาศัยใบสั่งยา แต่ความรู้และการใช้สารสกัดจากกัญชาอย่างเหมาะสมเป็นเรื่องที่มีความสำคัญ
งานวิจัยThe Effect of Medical Marijuanna Laws on Marijua na, Alcohol, and Hard Drug Use (NBER Working Paper No.20085), Hefei Wen, Jason M. Hockenberry,and Janet R. Commings. บ่งชี้ชัดเจนว่า การทำให้“กัญชา” และ”สารสกัดจากกัญชา” ถูกกฎหมาย นั้น ทำให้มีการใช้อย่างไม่ถูกต้องเพิ่มขึ้น แต่ยังไม่สามารถบ่งชี้ว่าทำให้มีการใช้ สารเสพติดประเภทอื่น ๆ เช่น ฝิ่น โคเคน เฮโรอิน เพิ่มขึ้นหรือไม่