กรมการค้าต่างประเทศ เจอผู้ไม่หวังดี ปลอมหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า Form E สำหรับการใช้สิทธิ์ส่งออกภายใต้ FTA อาเซียน-จีน รวม 585 ฉบับ ส่วนใหญ่เป็นทุเรียนสด และส้มโอสด เดินหน้าเอาผิดตามกฎหมาย เพื่อสร้างความเชื่อมั่น และป้องกันไทยถูกเข้มงวดตรวจสอบ พร้อมเร่งพัฒนาระบบออกหนังสือรับรองรูปแบบใหม่ นำร่อง 4 ความตกลง ดีเดย์ 15 ธ.ค.นี้ มั่นใจป้องกันการปลอมได้เด็ดขาด
นายรณรงค์ พูลพิพัฒน์ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดเผยว่า ในช่วง 10 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ต.ค.) กรมในฐานะหน่วยงานหลักที่มีหน้าที่ออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Certificate of Origin : C/O) ให้ผู้ส่งออกนำไปใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากรภายใต้ความตกลงการค้าเสรีต่าง ๆ ได้รับการร้องขอจากหน่วยงานศุลกากรสาธารณรัฐประชาชนจีน ให้ตรวจสอบความถูกต้องของหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า (Form E) รวมจำนวน 585 ฉบับ ภายใต้ความตกลงการค้าเสรีอาเซียน-จีน โดยผลการตรวจสอบ พบว่า มีผู้ที่ไม่หวังดีได้ทำ Form E ปลอมขึ้นมา เพื่อนำไปใช้แสดงต่อศุลกากรจีนเพื่อใช้สิทธิพิเศษทางภาษีศุลกากร โดยหมายเลขอ้างอิง (Reference No.) ที่แสดงบน Form E ปลอมดังกล่าว จะไม่พบในระบบการออกหนังสือรับรองของกรม รวมถึงระบบ Thailand Certificate Online Inquiry System (TCOIS) ซึ่งเป็นระบบที่ใช้ตรวจสอบความถูกต้อง ความแท้จริงของหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าที่ออกโดยกรม
สำหรับสินค้าที่ระบุใน Form E ปลอมส่วนใหญ่ คือ ทุเรียนสดและส้มโอสด ถึงแม้ Form E ปลอมจะมีสัดส่วนน้อย เมื่อเทียบกับการออก Form E ทั้งหมดในช่วงเวลาเดียวกัน แต่ส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นในการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าของไทย หากเกิดขึ้นมาก จะทำให้ศุลกากรจีนเข้มงวดกับการใช้สิทธิพิเศษกับสินค้าจากไทยมากขึ้น และอาจจะส่งผลกระทบต่อการส่งออกผลไม้ของไทยที่ส่งออกไปจีนเป็นจำนวนมากได้
ทั้งนี้ สถิติการออก Form E ของกรม ในช่วง 10 เดือน ปี 2566 มีจำนวนรวม 217,007 ฉบับ คิดเป็นมูลค่าส่งออก 20,508 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมี Form E ที่ถูกปลอมขึ้นจำนวน 585 ฉบับ คิดเป็นร้อยละ 0.27 ของ Form E ทั้งหมด
นายรณรงค์กล่าวว่า กรมจะดำเนินการอย่างเข้มงวดในการสืบสวนสอบสวน หาตัวผู้กระทำความผิดในการปลอม Form E และดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายต่อไป รวมทั้งจะพัฒนาระบบการให้บริการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าใหม่ หรือที่เรียกว่า ระบบ DFT SMART C/O ที่จะนำร่องเปิดให้บริการกับ 4 ความตกลง ได้แก่ RCEP , อาเซียน-ฮ่องกง , อาเซียน-ญี่ปุ่น และไทย-เปรู ในวันที่ 15 ธ.ค.2566 ซึ่งระบบดังกล่าว ผู้ส่งออกสามารถพิมพ์หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าได้ด้วยตนเอง (Self-Printing) และได้เพิ่มมาตรฐานความปลอดภัยในการป้องกันการปลอมเอกสาร โดยจะมี QR Code 2 รหัส แสดงบนหนังสือรับรอง เพื่อใช้ตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูลและแสดงการประทับรับรองเวลาอิเล็กทรอนิกส์ (e-timestamping) จากสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นและรับรองการมีอยู่ของเอกสาร ณ เวลานั้น ๆ อีกทั้งกระดาษแบบพิมพ์หนังสือรับรองยังเพิ่มฟังก์ชันพิเศษและกำหนดเลขที่หนังสือรับรองรูปแบบใหม่ เพื่อให้ยากต่อการปลอมแปลงด้วย
ผู้ประกอบการที่มีข้อสงสัยเกี่ยวกับการขอหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า สามารถสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ สำนักบริการการค้าต่างประเทศ กรมการค้าต่างประเทศ หมายเลขโทรศัพท์ 0 2547 4830 , 0 2547 4838 หรือสายด่วน 1385 และ www.dft.go.th