“ปลากดคัง” นับเป็นสินค้าประมงที่มีศักยภาพและเป็นหนึ่งในสินค้าเกษตรทางเลือกของจังหวัดอุบลราชธานีที่ได้รับความนิยมของผู้บริโภค ตลาดมีความต้องการต่อเนื่อง เนื้อปลากดคังเป็นปลาเนื้ออ่อน รสชาติเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตัว
นางประเทือง วาจรัต ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรที่ 11 อุบลราชธานี (สศท.11) สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เปิดเผยว่า เกษตรกรในพื้นที่มีการเลี้ยงปลากดคัง เป็นอาชีพหลักควบคู่ไปกับการทำการเกษตร เนื่องจากปลาชนิดนี้ ต้องอาศัยระยะเวลาในการเลี้ยง แต่ก็สามารถสร้างรายได้ให้เกษตรกรเป็นอย่างดี
สศท.11 ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์การผลิตปลากดคังของจังหวัดอุบลราชธานี พบว่า เกษตรกรมีการรวมกลุ่มแปลงใหญ่เพื่อผลิตและจำหน่ายปลากดคัง ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากดคัง ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี เป็นกลุ่มแปลงใหญ่เพียง 1 เดียวในจังหวัดอุบลราชธานี เป็นกลุ่มที่ประสบความสำเร็จ
และมีการวางแผนการผลิตให้ตรงตามความต้องการของตลาด ซึ่งจากการติดตามโดยสัมภาษณ์นายสันติ สุพล ประธานกลุ่มแปลงใหญ่ บอกเล่าว่า กลุ่มเริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2546 เดิมนั้นเกษตรกรประกอบอาชีพทำนาเป็นหลัก แต่ประสบปัญหาราคาผลผลิตตกต่ำ จึงเริ่มการเลี้ยงปลาในกระชังเนื่องจากอยู่ใกล้แม่น้ำมูล
เกษตรกรเริ่มทดลองเลี้ยงปลานิลตามการส่งเสริมของหน่วยงานเอกชน ซึ่งถือว่าเป็นอาชีพเสริมจากการทำนาได้แต่มีข้อจำกัดที่ราคาซื้อขายผู้ซื้อเป็นผู้กำหนด กลุ่มจึงเริ่มศึกษาการเลี้ยงปลาที่เป็นที่ต้องการของตลาดและได้รับผลตอบแทนที่ดีกว่า จึงเริ่มปรับเปลี่ยนมาเลี้ยงปลากดคัง เพื่อลดความเสี่ยงเรื่องราคา
ปัจจุบันกลุ่มแปลงใหญ่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากดคัง มีเกษตรกรสมาชิก 34 ราย พื้นที่เลี้ยงประมาณ 10 ไร่ จำนวน 315 กระชัง (เลี้ยงเฉลี่ย 10 กระชัง/ครัวเรือน)
สถานการณ์การผลิตของกลุ่มแปลงใหญ่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากดคัง พบว่า เกษตรกรจะนำพันธุ์ลูกปลากดคัง มาปล่อยเลี้ยงในกระชังประมาณ 500 ตัว/กระชัง (ขนาดกระชัง 5 เมตร x 6 เมตร x 2.5 เมตร) โดยจะใช้ระยะเวลาในการเลี้ยงประมาณ 3 ปี เพื่อให้ได้ขนาดตามที่กำหนดเฉลี่ย 3 – 6 กิโลกรัม/ตัว ซึ่งกลุ่มแปลงใหญ่จะมีการวางแผนการเลี้ยงเพื่อให้มีผลผลิตออกสู่ตลาดทุกเดือนเฉลี่ย 7 – 10 ตัน/เดือน
โดยปลากดคังจะให้ผลผลิตรวมอยู่ที่ 89.3 ตัน/ปี หรือ 89,300 กิโลกรัม/ปี ราคาที่เกษตรกรขายได้ เกษตรกรจะจำหน่ายปลากดคังเฉลี่ยกระชังละ 1,567 กิโลกรัม โดยจะขายปลีกให้กับร้านอาหารรายย่อยในพื้นที่ ราคา 150 – 165 บาท/กิโลกรัม และขายยกระชังปลา ราคา 120 – 140 บาท/กิโลกรัม
ด้านสถานการณ์ตลาด ผลผลิตส่วนใหญ่ ร้อยละ 80 ส่งจำหน่ายให้พ่อค้าคนกลางในพื้นที่และจังหวัดใกล้เคียง และผลผลิต อีกร้อยละ 20 ส่งจำหน่ายให้ร้านอาหารรายย่อย
ทั้งนี้ จากผลสำเร็จของกลุ่มแปลงใหญ่ที่มุ่งเน้นการพัฒนาคุณภาพของเนื้อปลาให้ได้มาตรฐาน ตรงกับความต้องการของตลาด และมีการวางแผนการผลิตอย่างเป็นระบบ กลุ่มแปลงใหญ่ยังได้มีการพัฒนาการเลี้ยงที่สามารถลดต้นทุนด้วยการผลิตอาหารปลาคุณภาพไว้ใช้เอง ซึ่งในอนาคตกลุ่มแปลงใหญ่วางแผนจะเพิ่มปริมาณการผลิตให้ได้เฉลี่ย 12 ตัน/เดือน เพื่อรองรับความต้องการของตลาด และพัฒนาเป็นแหล่งผลิตปลากดคังแบบครบวงจรที่สำคัญของจังหวัด คือ สามารถผลิตและจำหน่ายทั้งลูกปลาและเนื้อปลา ตลอดจนการสร้างเครือข่ายเพื่อพัฒนาเป็นแหล่งผลิตปลาคุณภาพที่มีความหลากหลาย
หากท่านใดสนใจข้อมูลสถานการณ์การผลิตและตลาดของกลุ่มแปลงใหญ่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากดคัง ตำบลหนองกินเพล สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ คุณสันติ สุพล ประธานกลุ่มแปลงใหญ่เกษตรกรผู้เลี้ยงปลากดคัง ตำบลหนองกินเพล อำเภอวารินชำราบ จังหวัดอุบลราชธานี โทร 08 3248 2268